สอดรับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ/สกศ.หนุนงบฯต่อยอดความรู้-นวัตกรรม
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยสาขาต่างๆ มาแล้ว 7 รุ่น และถึงวันนี้มีครูภูมิปัญญาไทยที่ สกศ.ยกย่องเชิดชูกว่า 400 คน ซึ่งปีนี้ก็มีการประกาศเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 8 อีก 54 คน
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบครูภูมิปัญญาแต่ละคน มีผลงานมาก่อนอยู่แล้ว สกศ.เข้าไปยกย่องเชิดชู โดยมองในฐานะของความเป็นครู เป็นผู้มีภูมิความรู้ ภูมิปัญญาสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้จนเป็นที่ยอมรับ แต่ที่ผ่านมาสกศ.ก็ทำได้เพียงสรรหาแล้วยกย่องเชิดชูเกียรติเท่านั้น ทั้งที่ครูภูมิปัญญาไทยทุกคนล้วนมีองค์ความรู้ที่ดี ที่ควรเผยแพร่ออกไปให้กว้างมากกว่านี้
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ตนคิดว่าควรมีการส่งเสริมให้มีศูนย์การเรียนรู้ของครูภูมิปัญญาไทย โดยจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ในลักษณะของสถานศึกษารูปแบบหนึ่งตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยจัดทำเป็นกฎกระทรวงว่าด้วยศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย เพื่อที่ สกศ.จะสนับสนุนให้ศูนย์การเรียนรู้เหล่านั้นสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยจัดทำเครือข่ายทางวิชาการ พัฒนาต่อยอดนวัตกรรม พัฒนาหลักสูตรและสื่อแนวทางการจัดการเรียนการสอน และ ที่สำคัญ สกศ.จะได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของครูภูมิปัญญาได้ด้วย เพราะที่ผ่านมาพบมีครูภูมิปัญญาจำนวนไม่น้อย ที่มีองค์ความรู้และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จนมีความเข้มแข็ง ขณะที่บางคนก็มีภูมิปัญญาสูงมาก แต่ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงาน หรือขาดปัจจัยที่จะต่อยอดองค์ความรู้หรือนวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก
“ศูนย์การเรียนรู้ของครูปัญญาไทย จะเป็นการจัดการเรียนการการสอนในรูปแบบการศึกษาทางเลือกตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่สามารถเทียบโอนความรู้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ผมตั้งใจจะทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3-4 เดือนนี้ เพื่อเป็นการแสดงพลังของครูภูมิปัญญาและช่วยสืบสานงานของครูภูมิปัญญาต่อไปได้”
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการตอนนี้คือ สกศ.จะช่วยเหลือครูภูมิปัญญ าที่จะขอจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ดังนั้นหากครูภูมิปัญญาคนใดคิดว่ามีความพร้อม ที่จะเปิดศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยได้ ก็เสนอมาที่ สกศ.ได้ เพราะถ้าเป็นศูนย์เรียนรู้แล้ว สกศ.ก็จะสามารถให้การสนับสนุนได้ทั้งในเชิงงานวิชาการและงบประมาณ ต่อยอดนวัตกรรม รวมถึงดูแลเรื่องสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ด้วย เพราะที่ผ่านมามีศูนย์การเรียนรู้เกิดขึ้นมากมายแต่ไม่ได้เป็นสถานศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และขณะนี้ สกศ.กำลังจะเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ แก่ครูภูมิปัญญาไทยด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ