โอดมีกฎข้อบังคับกำกับมากหมาย ทำให้เสียเปรียบ วอนรัฐดูแลอย่างเท่าเทียม
วันที่ 26 ก.ย.60 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา ซึ่งได้มีการรวบรวมข้องมูลจากผู้แทน/สมาคมต่างๆ ที่มีสถานศึกษาอยู่ในความรับผิดชอบ ทั้งปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานในภาพรวมของสถานศึกษาเอกชน และโรงเรียนนานาชาติ คณะกรรมการฯได้อภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง
โดยดูตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตั้งแต่แรก และรัฐเข้ามามีบบาทมากขึ้นและพัฒนามาจนถึงรัฐเข้ามามีบทบาทในการควบคุมกำกับมากกว่าส่งเสริมสนับสนุน ต่อไปต้องมากำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่ารัฐมีบทบาทอย่างไร โดยจะต้องมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ แต่ต้องลดกระบวนการกำกับควบคุมลง และมีมาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาให้บริการด้านการศึกษามากขึ้น
อนาคตอาจจะต้องมีการแยกระดับโรงเรียน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มโรงเรียน เช่น โรงเรียน ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ โรงเรียนที่มุ่งแสวงหากำไร และโรงเรียนที่มุ่งให้บริการเข้ามาทำหน้าที่เสริม หรือร่วมกับรัฐในการจัดการศึกษา แต่ที่แน่นอน คือการจัดการศึกษาระดับอนุบาล 3 ขวบ จะต้องจัดโดยรัฐเพราะกฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ยอมรับว่าข้อเรียกร้องบางอย่างสมเหตุสมผล บางอย่างอาจมากเกินไป ซึ่งต้องมาพิจารณาตามความเหมาะสม แต่ปัญหาสำคัญที่ร้องเรียนกันมากขึ้น รัฐไปแข่งกับเอกชน ขณะที่ของเอกชนมีกฎข้อบังคับกำกับมากกว่า ทำให้เอกชนเสียเปรียบ อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แนวทางที่ชัดเจน แต่แน่นอนว่าบทบาทของภาคเอกชนจะต้องมากขึ้น
น.ส.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า ปัญหาแรกที่พบเป็นเรื่องที่มีผลกระทบทำให้การจัดการศึกษาติดขัดคือเรื่องกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน พ.ศ.2550และพ.ศ.2554 (แก้ไขเพิ่มเติม) ที่บังคับใช้มานาน ไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญ บางมาตราในพ.ร.บ.ขัดแย้งกันเอง และขัดกับพ.ร.บ.อื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีลักษณะเป็นการควบคุมมากกว่าส่งเสริมการจัดการศึกษา โรงเรียนเอกชน จึงมีข้อเสนอให้ปรับแก้พ.ร.บ.การศึกษาเอกชนใหม่ ซึ่งทราบว่า สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเรียนการสอน โดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนนานาชาติ ที่ทำรายได้ให้กับรัฐปีละกว่า 1 แสนล้านบาท จะมีข้อติดขัด เช่น การประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ) ทั้งที่บางแห่งได้รับการรับรองในระดับนานาชาติแล้ว หรือครูต่างประเทศที่ต้องต่อวีซ่าทุกๆ 6 ปี นอกจากนั้นเป็นเรื่องบประมาณที่รัฐจัดสรรหา ซึ่งโรงเรียนเอกชนบางแห่งไม่รับ แต่บางแห่งได้ไม่ครบทำให้เด็กต้องเสียค่าเล่าเรียนเพิ่ม ดังนั้นจึงอยากให้โรงเรียนเอกชน ได้รับการสนับสนุนการจัดการศึกษาเท่ากับภาครัฐ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ อีกเรื่องคือ การกำหนดสัดส่วนการรับนักเรียนระหว่างโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐ ที่รัฐจะเปิดรับเด็กหลายรอบทำให้เด็กไม่มาเรียนโรงเรียนเอกชน
ทั้งนี้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า ที่ประชุมหารือความเชื่อมโยงของรัฐกับเอกชน เนื่องจากเอกชนที่เข้ามาจัดการศึกษาส่วนใหญ่เข้ามาโดยขอให้เข้ามา แต่ต่อไปควรเปิดให้เอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษาที่ชัดเจน ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามนโยบายของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลง และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษาในหลายรูปแบบทั้ง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ