เป็นจริงดังคาด ปฏิรูปการศึกษาของศธ.ในภูมิภาค ติดกับดักมาตรา 53 ..อำนาจมิใช่ของใคร??
วันที่ 19 ก.ย.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลัง มอบนโยบายคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะอนุกรรมการทุกคณะของ กศจ.นครปฐม กศจ.พระนครศรีอยุธยา และ กศจ.สุพรรณบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า
ตนขอให้ กศจ. และคณะ อกศจ. ทุกคณะบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยยึดประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ ไม่อยากให้ไปนึกถึงเรื่องอำนาจว่าเป็นของใครโดยเฉพาะ กรณีผู้มีอำนาจลงนามแต่งตั้งภายในเขตพื้นที่การศึกษาตาม มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ขณะที่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 ข้อ 13 ระบุให้เป็นอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในฐานะเลขานุการ กศจ.
ซึ่งตอนนี้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กำลังจะหารือร่วมกับ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ในวันที่ 22 ก.ย.60 นี้
“เรื่องนี้อำนาจการลงนามตามกฎหมาย เป็นของ ศธจ.ซึ่งคงไม่มีการปรับแก้ ให้ไปเป็นอำนาจของ อกศจ. ด้านบริหารงานบุคคลแล้ว เพราะต้องไปแก้ ม.44 ซึ่งไม่ทัน ดังนั้น จะมีการปรับแก้ในเชิงบริหารโดยให้เขตพื้นที่ฯ มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยกำลังพิจารณาให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทุกเขตในจังหวัดนั้นๆ มาเป็นกรรมการใน อกศจ. เพราะ ปัญหานี้ถ้ามาพูดเรื่องใครจะได้อะไร ไม่มีทางที่ใครจะพอใจ 100% แต่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็ต้องหาทางออกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องดูข้อดี ข้อเสียด้วย เพราะ กศจ. เอง ก็แย้งมาว่า ผอ.เขตพื้นที่ฯ มีอำนาจพิจารณาตั้งแต่ต้นทางอยู่แล้ว ทำไม่ต้องมาเข้าร่วมที่ปลายทางด้วย ซึ่งปลายทางจริง ๆ เป็นอำนาจของ กศจ. ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และสุดท้ายต้องดูว่ากฎหมายว่าอย่างไร ตอนนี้ถือว่าทะเลาะกันน้อยลง ซึ่งผมพอใจภาพรวมการทำงานตอนนี้แล้ว”
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ส่วนเรื่องปัญหาการเกลี่ยคนจาก สพท. ไปยังสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงาน ศธจ. ที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหา 28 เขตพื้นที่ ซึ่ง ผอ.สพท.ไม่ยอมเซ็นอนุมัติให้โอนย้าย แต่ไม่ใช่ ผอ.สพท. ไม่มีเหตุผล หรือไม่ยอมให้เกลี่ยคนให้ แต่ที่ไม่ยอมเซ็นเพราะถ้าให้ไปที่เขตพื้นที่ฯก็ไม่มีคนทำงาน เรื่องแบบนี้ ปลัด ศธ.ก็ต้องมาคุย บริหารการทำงานให้เป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งเท่าที่ดูบรรยากาศการทำงานตอนนี้ดีขึ้น และต่อไปถ้าเรื่องใดมีปัญหาให้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) เป็นผู้ตัดสิน
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า มาตรา 53 ไม่ใช่เรื่องหลักของการบริหารระหว่างเขตพื้นที่ฯ กับ กศจ. อำนาจ มาตรา 44 ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นตามนั้น แต่ผู้เกี่ยวข้องต้องมาคุยและตกลงทำความเข้าใจเรื่องทำงานร่วมกัน ซึ่งก็เชื่อว่าคุยได้ไม่มีปัญหา
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ