สถาปัตย์ มจพ.จับมือกรมวิทย์ เสริมแกร่งผู้ประกอบการเซรามิกไทย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิก เพื่อการส่งออกของผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคกลาง” มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิก ให้มีมูลค่าเพิ่ม พัฒนาผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเซรามิก โดยนำผู้ประกอบการเซรามิก ใน จ.ราชบุรี ที่โด่งดังการปั้น “โอ่ง” และ จ.สมุทรสาคร มีชื่อเสียงงาน “เบญจรงค์” เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
“สุเทพ จันทน” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ. กล่าวถึงดำเนินงานเบื้องต้น ทางคณะได้ลงสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตภัณฑ์เซรามิก เน้นการส่งออกเซรามิกในรูปแบบใดบ้าง จากนั้นจะเชิญผู้ประกอบการทั้งสองจังหวัด เข้ารับฟังข้อมูลที่เราได้มา รวมถึงแนวทางการพัฒนาเซรามิกเพื่อการส่งออกต่อไป “ผู้ประกอบการในสองจังหวัด มีศักยภาพของโรงงานเชื่อมต่อกันอยู่แล้ว ซึ่งเอกลักษณ์ของการทำเซรามิกทั้งสองจังหวัด ก็มีความแตกต่างกัน เพียงแต่เราเข้าไปเสริมเพื่อให้สินค้าของเขามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่านั้น”
เป้าหมายของโครงการนี้ ต้องการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ตั้งแต่รูปทรง การออกแบบ และที่สำคัญคือความเป็นเอกลักษณ์ ของจังหวัดนั้น ๆ อีกทั้ง มจพ. ยังต้องหาตลาดรองรับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
คณบดี กล่าวด้วยว่า นอกจากผู้ประกอบการ จะได้รับการถ่ายทอดด้านเทคนิค วิธีการ องค์ความรู้ ด้านการพัฒนากระบวนการผลิต และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์เซรามิก รวมถึงการออกแบบ การทำตลาดของอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และที่สำคัญเป็นโครงการที่บูรณาการระหว่างผู้ประกอบการ จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสาคร อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเซรามิก กลุ่มจังหวัดภาคกลาง สามารถออกแบบและพัฒนารูปแบบและลวดลายใหม่ๆ ให้มีความโดดเด่นและแตกต่างกันเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออก
ด้าน นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกของกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งแหล่งผลิตเซรามิกใหญ่ๆ ของไทยจะมีอยู่ 3 จังหวัด คือ ลำปาง ราชบุรี และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งเก่าแก่ดั้งเดิม
“โครงการนี้เริ่มทำมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2559 กรมวิทย์ฯ จะเน้นเชิงเทคนิค คือการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาช่วยเสริม นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วน มจพ.มีองค์ความรู้ด้านการออกแบบ การดีไซน์ เพื่อตอบโจทย์โปรดักส์ใหม่ ๆ ด้วย และเมื่อเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง และดีไซน์ไปพร้อม ๆ กันแล้ว ความคาดหวังต่อไปก็คือ การเพิ่มมูลค่าสินค้า ของผู้ประกอบการ และ มจพ.ก็มีแนวคิดที่เอาตลาดเป็นตัวนำ ซึ่งโครงการนี้ก็จะให้ตลาดเซรามิกกว้างขวางมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คือยังพบว่ามีข้อจำกัดด้านการขนส่งลำบาก เพราะผลิตภัณฑ์ชิ้นใหญ่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องทำตัวโมเดลให้เล็กลง น้ำหนักเบา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด” รองอธิบดีฯ กล่าว
—————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ