“นพ.จรัส”พร้อมนำหารือกรณีสิทธิ-โอกาสการศึกษา”คนบัตรเลข0”
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภาย ในการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้ประมวลสิ่งที่พบเห็นจากการลงพื้นที่แสดงความคิดเห็นของพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ในพื้นที่ที่เป็นแนวสันเขาเดียวกันใน 2 อำเภอ คือ อ.ไชยปราการ และอ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีอยู่ 5 โรงเรียน และเท่าที่ดูมีคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า จะต้องมีการกระจายอำนาจ เพื่อให้โรงเรียนมีโอกาสคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น เรื่องวิชาการ ซึ่งโรงเรียนสะท้อนว่าส่วนกลางกำหนดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และกำหนดระยะเวลาในแต่ละกลุ่มสาระฯ เป็นกรอบเดียวใช้ทั้งประเทศ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน ในส่วนนี้โรงเรียนจะต้องมีเสรีภาพในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และคล่องตัว ขณะเดียวกันก็ต้องมีเกณฑ์กลางในการประเมิน และจะต้องมีความยืดหยุ่นด้วย
ส่วนเรื่องสิ่งก่อสร้าง การเงิน บัญชี การบริหารงานบุคคล โรงเรียนแต่ละแห่งอาจไม่มีความสามารถเพียงพอ ที่จะจัดการทั้งหมดได้ ซึ่งรูปแบบที่เป็นไปได้ คือเป็นการรวมกลุ่มของโรงเรียนรวมกันบริหาร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คณะกรรมการอิสระฯ จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาการปฏิรูปโครงสร้างต่อไป
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้ออกกฎหมายกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมพัฒนาครูอาจารย์ ภายใน 1 ปี นั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการกองทุนได้ยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เสร็จแล้วและจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอิสระฯ ในวันอังคารที่ 19 ก.ย.60 นี้
ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการอิสระฯ ประธานคณะอนุกรรมการกองทุน กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.กองทุนฯ จะพูดถึงแหล่งที่มาของเงินกองทุน เช่น งบประมาณแผ่นดิน เปิดช่องให้หาเงินทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การออกสลากกินแบ่งรัฐบาล การรับเงินบริจาค จากภาคเอกชน โดยมีการลดหย่อนภาษีให้ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะครอบคลุมตั้งแต่เด็กแรกเกิด โดยกระบวนการให้ความช่วยเหลือจะใช้วิธีชี้เป้า และเข้าร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ที่สำคัญจะมีการประเมินการดำเนินงานของกองทุนฯ เป็นระยะๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ขอให้ครู ผู้บริหารการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปร่วมตอบแบบสอบถามแสดงความคิดเห็น แนวทางการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวทางเว็บไซต์ของสำงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เพื่อนำความคิดเห็นมาปรับปรุ่งร่างต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ หรือที่เรียกว่าคนบัตรเลข 0ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย แต่อยู่ในแผ่นดินไทย จะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะเมื่อเรียนจบแล้วจะไม่ได้รับสิทธิเท่ากับคนที่มีสัญชาติไทย
เรื่องนี้ นพ.จรัส กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯ ยังคิดไม่ถึง ดังนั้นหากประชาชนมีข้อเสนอแนะอะไรก็ให้ส่งเข้ามา คณะกรรมการอิสระฯ ยินดีรับฟังทุกเรื่อง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ