วางระบบกองทุนการศึกษา โอบอุ้มตั้งแต่ปฐมวัย-สร้างโอกาสเท่าเทียมตาม รธน.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ฐานะประธานอนุกรรมการกองทุน เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่มีการศึกษาพบว่าเด็กที่มีฐานะยากจน ขาดทุนทรัพย์ ยังไม่เข้าถึงระบบการศึกษา และจากการสัมภาษณ์ผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติหลายคนมีช่วงการเปลี่ยนแปลงของชีวิต และประสบปัญหาเรื่องการศึกษา เกือบจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะความยากจน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากเพราะประเทศจะขาดทรัพยากรที่ดีไป นอกจากนี้ เรามักจะได้ยินเสมอว่า เรื่องการพัฒนายิ่งพัฒนาไป ก็ยิ่งประสบปัญหา ทั้งเรื่องการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำ โดยหลายประเทศพบว่ามีสาเหตุจากความขัดแย้งทางสังคม จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ถ้าดูที่ปลายเหตุก็จะแก้ได้ยาก
ดังนั้น จึงควรดูตั้งแต่ต้นเหตุตั้งแต่ในครรภ์มารดา ว่าบุตรได้สารอาหารเพียงพอก่อนคลอดหรือไม่ เมื่อเกิดมาแล้วได้สารอาหารเพียงพอหรือไม่ ที่จะให้เขามีพัฒนาการทางสมองร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ปฐมวัย จนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งก็เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐธรรมนูญฉบับ ปัจจุบันได้มีบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า อย่างน้อยก็อยากให้มีเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า “กองทุน” ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กที่อาจจะขาดทุนทรัพย์ในการเข้าถึงระบบการศึกษา
ดร.ประสาร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ยังบัญญัติเรื่องของกองทุนว่า อยากให้มีทรัพยากรเพียงพอ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรื่องการพัฒนาคุณภาพครูโดยเฉพาะที่อยู่ห่างไกลอาจจะขาดทรัพยากรในด้านต่างๆ แต่เนื่องจากทรัพยากรเรามีจำกัด ก็เน้นลำดับความสำคัญก่อน-หลัง โดยขณะนี้กำลังรวบรวมว่ามีกลุ่มใดบ้างที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน จะช่วยได้อย่างไร ช่วยด้านไหน อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา และท้ายที่สุดอาจจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุน และมีกรอบการทำงานที่จะออกอนุบัญญัติ การทำงานได้อย่างตรงเป้าหมาย ซึ่งเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าถ้าหากทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ใช้ทรัพยากรเพียงพอ ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ก็ลดปัญหาเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ลดปัญหาออกจากระบบการศึกษากลางคัน หรือไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเอง แต่หัวใจหลัก คืออย่าให้เรื่องทรัพยากรการเงิน มาเป็นอุปสรรคทำให้ที่สิ่งเด็กควรจะได้ กลับกลายเป็นไม่ได้เสีย
“สิ่งที่คาดหวังจากการมีกองทุน คือ เรื่องของทรัพยากร ซึ่งข้อมูลที่เรามีอยู่เห็นได้ว่ามีอีกจำนวนมาก ที่ต้องเข้าไปช่วย เช่น เด็กก่อนวัยอนุบาลต้องมีพัฒนาการทางร่างกาย ที่พร้อมจะเข้าเรียนอนุบาล ซึ่งปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าระดับอนุบาลได้ อย่างไรก็ตาม กองทุนจะจัดลำดับความสำคัญไว้ เช่น เรื่องการช่วยเหลือเด็กที่จะเข้าอนุบาลแต่ครอบครัวที่ยากจน หรือเด็กที่เข้าเรียนประถมศึกษาแล้วแต่ต้องออกกลางคัน เป็นต้น” ดร.ประสาร กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ