</p>
ดนตรีคือชีวิต ชีวิตคือดนตรี
วงโยธวาทิตสรรพวิทยาคม จ.ตาก
“ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา”
พระราชดำรัสของ“ในหลวงรัชกาลที่ 9” องค์อัครศิลปิน ณ วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2503ในคราวเสด็จฯเยือนต่างประเทศ ทรงใช้ดนตรีกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศและมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรี แก่นักข่าวชาวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกา ความตอนหนึ่งว่า
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆ กันออกไป”
ดนตรีคือชีวิต ดนตรีช่วยกล่อมเกลาจิตใจ สร้างสุนทรียะแก่ชีวิต และดนตรียังมีส่วนสร้าง “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ได้อย่างลงตัว ดังที่โรงเรียนสรรพวิทยาคม อ.แม่สอด จ.ตาก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 38 ที่นำศิลปะแขนงนี้ มาเป็นเครื่องมือสร้างพลเมืองยุค 4.0 ควบคู่ไปกับเรื่องวิชาการ
โดยเป็นประจำทุกปีที่โรงเรียนสรรพวิทยาคม จะจัดโครงการค่ายปรับพื้นฐานวงโยธวาทิต สำหรับนักเรียนใหม่ ซึ่งในปีการศึกษา 2560 นี้ มีนักเรียนใหม่จากทุกระดับชั้นสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “วงโยธวาทิต” และค่ายนี้จะช่วยปรับพื้นฐาน เสริมสร้างความรู้ และเพิ่มพูนศักยภาพทางด้านดนตรีให้แก่สมาชิกวงโยธวาทิต และยังเป็นเส้นทางต่อเติมฝันและการแข่งขันในเวทีต่างๆ
ผอ.สมศักดิ์ เลิศรัตนพันธ์ ผู้บริหารโรงเรียนคนปัจจุบัน บอกว่า “ดนตรี” เป็นศาสตร์ทางศิลปะแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ นอกจากจะสร้างความสุขทางใจแล้ว ยังช่วยกล่อมเกลาจิตใจและควบคุมอารมณ์ความรู้สึก (EQ) และทางโรงเรียน ก็ให้ความสำคัญ เสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ ที่นอกเหนือจากด้านวิชาการ (IQ)
และด้วยบริบทของโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ อ.แม่สอด จ.ตาก ติดกับชายแดนประเทศสหภาพเมียนมา ทำให้นักเรียนที่เข้ามาเรียนที่นี้ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ “ดนตรี” จึงมีส่วนสำคัญมากที่จะช่วยเชื่อมภาษา และสัมพันธ์ภาพ ก่อเกิดความสุนทรียะในการเรียนรู้ และให้ความรู้สึก “เป็นหนึ่งเดียวกัน” แก่นักเรียนทุกคน
อย่างเช่น “พีรภัทร สุภาราช” ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.5 ถนัดเล่น “ทรัมเป็ต” และมีตำแหน่งเป็นประธานวงโยฯ
“ผมชอบดนตรี เพราะดนตรีทำให้ผ่อนคลาย ผมเล่นดนตรีกับวงโยฯ มา 4 ปีการศึกษาแล้วจนได้รับเลือกจากสมาชิกในวงให้เป็นประธาน ก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่า ผมเลือกดนตรีและดนตรีก็เลือกผม”
พีรภัทร เล่าต่อไปว่า เป็นความฝันของคนดนตรีทุกคนที่อยากมีโอกาสได้แสดงบนเวทีใหญ่ๆ สักครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าเราก็ทำได้ ซึ่งผมภูมิใจมากที่ได้ร่วมบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ดนตรีเพื่อพ่อ สพม.38” ในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100วัน) ในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดโดย สพม.เขต 38 จัดแสดงที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และที่ผ่านมาวงโยฯ สรรพวิทยาคม ก็ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับชุมชน หน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ รวมถึงการประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนทั้งระดับเขตพื้นที่ ภาคเหนือและระดับชาติ ซึ่งทำให้ผมและสมาชิกวงโยฯ ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์มากมาย
หนุ่มน้อยนักเป่าทรัมเป็ต คนนี้มีความฝันอยากเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ “ผมอยากเป็นตำรวจ แต่ผมไม่คิดที่จะลืมดนตรี และจะใช้ดนตรีที่ได้เรียน ฝึกฝนจากคุณครูมาประยุกต์ใช้ในอาชีพอนาคตครับ”
ด้าน “เพ็ญพิชชา ใครน้ำ” เป็นอีกคนที่เล่น”ทรัมเป็ต” และด้วยเป็นพี่ใหญ่ ม.6 แถมยังเป็นรองประธานวง เธอมีหน้าที่ดูแลน้องๆ และรับผิดชอบตามภาระงานที่คุณครูมอบหมาย เพ็ญพิชชา บอกว่าตลอด 5 ปีการศึกษา ที่มีโอกาสได้เล่นวงโยฯ เธอจะทำให้ดีที่สุดและมีความสุขกับดนตรี
“อาจเป็นเพราะเรามีใจรักดนตรี ทำให้มีความมานะ พยายาม ฝึกฝนจนได้ดี”
หลายต่อหลายครั้งที่เธอและวงโยฯ ได้ร่วมแข่งขันวงดนตรีลูกทุ่ง ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนทุกปีการศึกษา ทั้งระดับเขตพื้นที่ ภาคเหนือและระดับชาติ เพื่อพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเวทีประกวดวงดนตรีลูกทุ่งรายการชิงช้าสวรรค์ ทางช่อง 9 อสมท. ทำให้เธอได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ
“แรงบันดาลใจหนึ่งของหนู คือคุณครูผู้ควบคุมวงโยฯ ทำให้มีเป้าหมายอยากเป็นครูสอนดนตรี หรือนักดนตรีอาชีพ ดนตรี ช่วยกล่อมเกลาจิตใจค่ะ และแม้ว่าอาจจะไม่ได้เรียนสาขาดนตรีอย่างที่ใจหวัง แต่จะไม่ทิ้งจะเล่นดนตรีต่อไปแน่นอนค่ะ”
ทิ้งท้ายกันที่ “ครูบัญชา กรรขำ” ครูดนตรีของนักเรียน พูดถึงหัวใจสำคัญของค่ายปรับพื้นฐานฯ คือการที่ ศิษย์พี่ศิษย์น้องได้จะพบปะกัน
“ในทุกปีที่โรงเรียนจัดกิจกรรมนี้จะมีรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว กลับมาสอนทักษะให้น้องๆ เป็นความผูกพันของทีมที่มีให้กัน ลูกศิษย์แต่ละรุ่นที่จบไปจะกลับมาหาครูเสมอๆ หรือเวลาที่มีงานสำคัญๆ พวกเขาก็จะกลับมาช่วยงานตลอดโดยมิได้ร้องขอ
…การที่ครูเห็นลูกศิษย์ นำเสนอผลงานของตนเองอย่างสง่างาม ต่อหน้าสาธารณชนในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ อำเภอแม่สอด ตัวครูเองก็พลอยปลาบปลื้มไปด้วย…ถึงแม้ว่าข้างหลังภาพนั้นครูต้องสละเวลาของครอบครัว ทุ่มเทให้เด็กๆ ในวงโยฯ แต่นับว่าโชคดีที่ลูกๆ ก็เรียนดนตรีทุกคนจึงเข้าใจ
สำหรับครูแล้วคิดว่า ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ถ้วยรางวัล หากอยู่ที่ลูกศิษย์ได้นำดนตรี ที่เรียนรู้ไปใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตได้” ครูบัญชา กล่าวทิ้งท้าย
——————-
—————-
(ประสานข้อมูล ฤทัยกัญญา ชูทอง สมพ.38)
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ