</p>
ปฏิรูป..หรือปฏิสังขรณ์
หมายเหตุ : ตามรายงานข่าวแจ้งว่าในวันที่ 24 ส.ค.60 นี้ กลุ่มผู้เสียสิทธิ์ 38ค(2) บุคลากรทางการศึกษาอื่น ใน 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จะตบเท้ายื่นหนังสือขอความชอบธรรมต่อ “เจ้ากระทรวงคุณครู” พร้อมกันนี้ทางกลุ่มผู้เสียสิทธิ์ 38ค(2) ได้ประมวลปัญหาและเสียงสะท้อนจากพื้นที่ ในบทความเรื่อง ปฏิรูปหรือปฏิสงขรณ์ ส่งผ่าน “สยามรัฐ” เพื่อเป็นกระบอกเสียงถึงผู้เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
…นับตั้งแต่ มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เมื่อวันที่ 21มี.ค.59 ยุบคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา สพป./สพม. และยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา
คำสั่ง คสช.ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เมื่อวันที่ 21 มี.ค.59 กำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวน 18 ภาค และมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดให้ ศธ.มี อ.ก.พ.กระทรวงเพียง 1 คณะ
คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 21 มี.ค.60ให้ยุบผู้ดำรงตำแหน่งใน ก.ค.ศ. เพื่อให้การบริหารงานบุคคลราบรื่น
และล่าสุด คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ. ลงวันที่ 3เม.ย.60ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 10 และ 11 และกำหนดให้มีศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด ให้ศึกษาธิการจังหวัด ดํารงตําแหน่งเทียบกับข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทอํานวยการระดับสูง และอีกหลายต่อหลายอย่างตามมา จากนั้นมีการคัดเลือกศึกษาธิการจังหวัด และเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากร ทั้ง 38 ค(1) ศึกษานิเทศก์ และ 38 ค(2) บุคลากรทางการศึกษาอื่น จาก สพป./สพม.ไปปฏิบัติงานที่ สำนักงานศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด เพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค
โดยคาดหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ
ความจริงไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้
การปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถเดินหน้าได้ ผลไม่ได้ตกที่โรงเรียนและนักเรียน หากแต่ตกที่บุคลากรในสำนักงานมากกว่า ทั้งศึกษาธิการจังหวัด รองศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ ฯลฯ โรงเรียนยังอยู่เช่นเดิม นักเรียนยังคงอยู่เช่นเดิม (เป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น) แต่ที่ได้มาเพิ่ม คือ ผู้บังคับบัญชา
“…หลายกลุ่มงานทั้งบุคลากร
ย้ายออกไปอยู่แห่งใหม่
แบกรับภาระงานแทนเพื่อน
นอกจากปรับลดคนแล้ว
ยังปรับลดตำแหน่งด้วย…”
เมื่อมีการเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากรทางการศึกษาอื่น ทั้ง 38ค(1) และ 38 ค(2) ไปปฏิบัติงานที่สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ส่งผลให้บางสพป./สพม.ไม่สารมารถขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพได้ดังเดิม เพราะกำลังคนถูกเกลี่ยกำลังไป แต่ขอบข่ายและภาระงานยังคงเดิม (คนน้อยรับผิดชอบมากขึ้น) บางเขตย้ายเกือบหมด
…ภายหลังจากการเกลี่ยอัตรากำลังไปหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่แล้ว ก.ค.ศ.ในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดทำกรอบอัตรากำลังบุคลากร ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมกับ สพฐ. จึงได้มีการจัดกรอบอัตรากำลังใหม่ ใน สพป./สพม. ทั้ง 225 เขตใหม่ ผลคือมีการงุบงุบงิบงิบระหว่างกัน โดยที่ไม่แจ้งให้ใครรับทราบ และประกาศใช้ทันที เมื่อวันที่ 15 ส.ค.60 ที่ผ่านมา
ผลปรากฏว่าหลายกลุ่มงานทั้งบุคลากรย้ายออกไปอยู่แห่งใหม่ แบกรับภาระงานแทนเพื่อน นอกจากปรับลดคนแล้ว ยังปรับลดตำแหน่งด้วย อาทิ นักประชาสัมพันธ์ สพป./สพม. ทั้ง 225 เขต จากเดิมมีกรอบอัตรากำลัง 1-2 คน มาตรฐานตำแหน่งที่ระดับชำนาญการพิเศษ 1 ตำแหน่ง ชำนาญงาน/ชำนาญการ 1 ตำแหน่ง ถูกปรับให้เหลือเพียง 1 ตำแหน่ง และมีความเจริญก้าวหน้าที่ระดับชำนาญการ ทั้งที่คนลดปริมาณงานเท่าเดิม (ไม่ถูกว่าปรับลดระดับไม่ทราบจะเรียกอะไร)
นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ เช่น นักจัดการงานทั่วไป (กลุ่มอำนวยการ) นักวิเคราะห์นโยบายและแผน (กลุ่มนโยบายและแผน) และนักวิชาการศึกษา (กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา) ที่ถูกปรับลดจากชำนาญการพิเศษ เหลือแค่ “ชำนาญการ” ส่วนที่อยู่ดีมีสุขไม่พ้นนักทรัพยากรบุคคล (กลุ่มบริหารงานบุคคล) ที่ภาระงานถูกผ่องถ่ายภารกิจไปที่ ศธจ.บ้างส่วนหนึ่ง แต่คงเหนียวแน่นมากด้วยปริมาณคน และปริมาณตำแหน่ง ที่หลาย ๆ คนแอบอิจฉาอยู่ในการปฏิรูปคราวนี้
ปกติการปฏิรูปทุกอย่างต้องดีขึ้น แต่งานนี้เรียกจะปฏิรูป..หรือปฏิสังขรณ์ กันดีละท่าน
——————-
** กลุ่มผู้เสียสิทธิ์ 38ค(2)
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ