วารินทร์ พรหมคุณ
ภายหลังที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ออกมาเปิดเผยข้อมูล ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานรัฐ ที่มีข้าราชการถูกร้องเรียนมากที่สุดในระดับต้น ๆ โดยเฉพาะเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมในการโยกย้าย และทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง
…ฉับพลันทันที ศธ.ได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต ศธ.เพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตในภาครัฐ
“ขอให้เชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการ ยุคนี้ให้ความสำคัญ และเดินหน้านโยบายแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเอาจริงเอาจัง โดยมีความพยายามที่จะกำกับ ติดตาม และซักถามความก้าวหน้าการสอบสวนในแต่ละเรื่องเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า พร้อมชี้แนะ และกำชับให้หน่วยงานต้นสังกัด เร่งรัดการดำเนินงานอย่างละเอียดรัดกุมและครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด เพื่อเปิดเผยความจริงให้ปรากฏโดยเร็ว และได้ขอความร่วมมือสื่อมวลชน ในการเผยแพร่ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ออกไปอย่างกว้างขวาง ให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ เอาจริง และเป็นการป้องปราบผู้ที่คิดจะทำไม่ดีด้วย”
วาทะของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต ศธ.เมื่อครั้งที่ผ่านมา
แต่ความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่???
ยิ่งสาว ยิ่งลึก ยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งน่าตกใจ
เกิดอะไรขึ้นในวังจันทรเกษม ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6ทรงพระราชทานวังจันทรเกษม เพื่อให้เป็นหน่วยงานการศึกษา เป็นต้นแบบความรู้ ให้การศึกษา สอนให้คนมีสำนึก มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับเป็นหน่วยงานแสวงหาผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม(เน้นบุคคลบางกลุ่ม)ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน เข้ามาหาผลประโยชน์กับครู และเด็ก อนิจจา…
จากข้อมูลของ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต ศธ.พบว่า คดีที่ร้องมายัง ศธ.ทั้งหมด 629 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 283 เรื่อง แต่คดีใหญ่ ๆ ที่ “สื่อมวลชน” สนใจมีไม่กี่เรื่อง เพราะคดีเหล่านี้กระทบวงกว้างในทุกระดับมูลค่าความเสียหายสูง อาทิ
กรณีบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน สกสค.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 ราย
กรณีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน ร่วมทุนกับบริษัทหนองคายน่าอยู่ จำกัด ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งว่า บริษัทดำเนินการขายหุ้นให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.โดยชอบด้วยกฎหมาย และยินดีที่จะซื้อหุ้นคืนทั้งหมดในราคาเดิม ซึ่งเรื่องนี้ นพ.ธีระเกียรติ มอบประธานคณะทำงาน หารือร่วมกับเลขาธิการ สกสค.และผู้เกี่ยวข้องในประเด็นการซื้อหุ้นคืนในราคาเดิมต่อไป
กรณีโครงการก่อสร้างอาคารพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ผลการสืบข้อเท็จจริงพบว่ามีมูล จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้มีส่วนร่วมกระทำผิดและสอบหาผู้รับผิดชอบทางละเมิด และยกเลิกโครงการและคืนที่ดินให้กับหน่วยงานเดิม
กรณีการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการ CCTVโรงเรียนในเขตพื้นที่ 12 จังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ 577 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง พบว่าการดำเนินงานไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง หรือ TORและอุปกรณ์มีราคาสูงกว่าปกติ ทั้งในส่วนของ Hardware, License เป็นต้น จึงมอบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งบริษัทคู่สัญญาให้ดำเนินงานให้ครบถ้วนตามสัญญาในเวลาที่กำหนด พร้อมเตรียมการริบเงินประกัน (60ล้านบาท) ในกรณีบริษัทผิดสัญญาต่อไป
…เรื่องนี้ยังมีความชอบมาพากลอยู่ว่า…ผลสรุปของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หลาย ๆ ชุดที่มีคำสั่งให้ลงไปสืบสวนข้อเท็จจริง ได้ “ข้อมูลจริง” หรือไม่…เพราะคนในพื้นที่ก็รู้กันอยู่ว่า ใครคือผู้สั่งการตัวจริง หรือกรรมการฯ จะหลับหูหลับตาสรุปผลสืบสวน ตามใบสั่ง…ให้ใครมาเป็นแพะ!!แล้วจบเรื่องไป
กรณีการจัดสร้างสนามฟุตซอล ซึ่งปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า มีการจัดจ้างสร้างสนามฟุตซอล จากงบแปรญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้กับ 416 โรงเรียนใน 18 จังหวัด ส่อเหตุไปในทางไม่สุจริต ซึ่ง สพฐ.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และสืบสวนข้อเท็จจริง รวม 16 คณะ ซึ่งขณะนี้ มีรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง 3 คณะ อยู่ระหว่างสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริง 9 คณะ และมีผลการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว 2 คณะ ส่วนที่เหลืออีก 2 คณะอยู่ระหว่างสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริง
…เรื่องนี้ถูกลากยาวมาหลายปีแล้ว น่าจะสรุปได้แล้วว่า มีกลุ่มไหนเกี่ยวข้องบ้าง โดยเฉพาะข้าราชการการเมือง
กรณีการปรับปรุงห้องเรียน (e-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (e-Library) ซึ่งเกิดจากการจัดสรรงบแปรญัตติ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อปี 2556 ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้แจ้งมายัง ศธ.ว่าการดำเนินงานโครงการไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในหลายประเด็น และมีโรงเรียนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก สพฐ.จึงตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ถึง 22 คณะ โดยขณะนี้คณะกรรมการรายงานผลการสืบสวนแล้ว 12 คณะ และอยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงอีก 10 คณะ
…กรณีนี้เป็นที่โจษจันในพื้นที่กันอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ (ศปท.ศธ.) ซึ่งมี ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัด ศธ. ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า ศปท.ศธ.ได้ดำเนินการพัฒนาซอฟต์แวร์”ระบบกำกับติดตามเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการทางวินัย” ที่ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยให้การกำกับติดตามเรื่องร้อน! ที่มีการร้องเรียนว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนบ้างแล้ว อีกทั้งสะดวกในการลงพื้นที่ของผู้บริหาร ที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม จะรู้ทันทีว่าจังหวัดไหน มีเรื่องร้องเรียนอะไร และสามารถสอบถามความคืบหน้าได้ ซึ่งมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
โดยระบบดังกล่าวจะแสดงจำนวนคดี ที่มีอยู่ในระบบทั้งหมด สถานะของคดี (ปกติ, เกินกำหนดเวลา, กำลังจะล่าช้า) การแจ้งเตือนตามขั้นตอนสืบสวนสอบสวน การสืบค้นคดี ตลอดจนรวบรวมรายการคดีที่ผู้ใช้งานกดติดตามไว้ เป็นต้น
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า”ซอฟต์แวร์”ดังกล่าวพัฒนาถึงขั้นไหน และจะสามารถนำมาใช้ได้เมื่อใด …เป็นการดำเนินงานที่เงียบสนิท!!
ทั้งนี้ ทั้งนั้นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือคุณธรรมของผู้นำ ที่รัฐบาล คสช.ฝากงานใหญ่ของชาติไว้ในมือ จะนำพา “การศึกษา” ก้าวข้ามกับดักนี้ไปได้อย่างไม่มีส่วนได้ ส่วนเสีย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ