คำสั่ง คสช.ช่วยปลดล็อคการสรรหาอธิการบดี “เลขาธิการอุดมศึกษา” ระบุไม่ใช่เรื่องใหม่ มีกฎหมายกำหนดไว้ แต่ที่ผ่านมาถูกบิดเบือนจนเกิดการฟ้องร้อง
วันที่ 9 ส.ค 60 ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 เรื่องแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา จนเป็นอุปสรรคให้ การบริหารงานของสถานศึกษาต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถขับเคลื่อนสถานศึกษาได้เป็นระบบขาดความต่อเนื่องและเกิดความล่าช้าในการบริหารงาน ส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้ ว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เสนอให้หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อเป็นการปลดล็อคการสรรหาอธิการบดี
ซึ่งที่ผ่านพบว่า ยังไม่ความเข้าใจไม่ตรงกัน ดังนั้นจากนี้จะถือว่า มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการสรรหาอธิการบดี โดยเฉพาะกรณีที่เป็นข้อถกเถียงว่า คนนอกสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัยได้หรือ ตั้งแต่ ตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การเปิดกว้างให้คนนอกสามารถเป็นอธิการบดีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คำสั่งหัวหน้า คสช.ทำให้ประเด็นนี้ชัดเจนขึ้น เพราะในกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมามีการไปบิดเบือนจนทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องในเรื่องการสรรหาอธิการบดีในหลายมหาวิทยาลัย
ด้านนายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) พ.ศ. 2547 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)พ.ศ.2547 เปิดกว้างอยู่แล้ว ในอดีตการเป็นอธิการบดี โดยเฉพาะกลุ่ม มรภ. และ มทร.ที่แต่งตั้งตามกฎหมาย ไม่ได้กำหนดเรื่องอายุไว้ แต่บางมหาวิทยาลัยนำไปโยงกับระบบราชการ ซึ่งเกษียณอายุ 60 ปี ทำให้เกิดความสับสน จนเกิดเป็นปัญหาฟ้องร้องกันหลายแห่ง ดังนั้นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น เพราะผู้ที่เกษียณอายุราชการก็ถือเป็นคนนอก และกฎหมายไม่ได้ห้ามเป็นอธิการบดี
ส่วนกรณีที่ ขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยมีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ในศาล ก็จะต้องนำคำสั่งนี้ไปแถลงต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาต่อไป ส่วนตัวคิดว่า ศาลน่าจะพิจารณาจำหน่ายคดี เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ถือว่าชัดเจนแล้ว และจากนี้การสรรหาอธิการบดีแต่ละแห่งก็ต้องยึดตามกฎหมายนี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ