วารินทร์ พรหมคุณ
อาชีวะช่วยซ่อมสร้าง..แล้วใครล่ะจะช่วยซ่อมอาชีวะบ้าง
จากอิทธิพลพายุ “เซินกา” เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลบ่าทะลักท่วมพื้นที่หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ประชาชนได้รับผลกระทบเดือดร้อนกันทั่วหน้า ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตลอดคืนทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาภูพาน ไหลลงสู่เขื่อนน้ำอุนปริมาณมาก จนล้นสปิลเวย์ไหลสู่พื้นที่ด้านล่าง ทำให้น้ำในทะเลสาบหนองหานมีปริมาณน้ำมากเอ่อล้น เข้าท่วมพื้นที่และบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 70-80 เซนติเมตร บางพื้นที่สูงเกือบ 2 เมตร บ้านเรือน ร้านค้า ข้าวของได้รับความเสียหายมากมาย
ขณะที่บริเวณหนองสนม แหล่งน้ำที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำเพียงแห่งเดียวในเขตเทศบาลนครสกลนคร เข้าสู่ภาวะวิกฤตน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมถนนโดยรอบ รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปได้ต้องปิดการจราจรเส้นทางเข้าหมู่บ้านถูกกระแสน้ำพัดขาด เมืองสกลนครรับน้ำไม่ไหวเกิดน้ำท่วมทั้งจังหวัด
หลังจากทราบข่าวอุทกภัยที่สกลนคร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ระดมทีมเปิดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it center เพื่อช่วยเหลือประชาชน ทันทีใน 52 สถานศึกษา 64 จุด
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) นำคณะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม พบความเสียหายของวิทยาลัยอาชีวศึกษา จำนวนไม่น้อย และที่เสียหายหนักๆ คือ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร วิทยาลัยการอาชีพพรรณานิคม และภาพรวมมีวิทยาลัยของรัฐ 4แห่ง วิทยาลัยเอกชน 21 แห่ง
ทั้งนี้ ที่เสียหายหนักมาก คือ อาคารสถานที่ ห้องเรียน ชอปฝึกปฏิบัติ ห้องสมุด ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ และพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ มีความเป็นห่วง และฝากให้อาชีวะเข้ามาดูแลเยียวยาให้เข้าสู่สภาพปกติโดยเร็ว เพราะฉะนั้น สอศ.จะดูแลเรื่องงบประมาณเยียวยา โดยให้วิทยาลัยประมวลความเสียหายว่ามีอะไรบ้างเพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป
“สอศ.พยายามจะให้เด็กช่างได้กลับเข้าเรียนตามปกติโดยเร็วที่สุด เพราะจะกระทบต่อคุณภาพการศึกษา อย่างที่ไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยการอาชีพ(วก.)พรรณานิคม ไม่รู้ว่าหนึ่งสัปดาห์น้ำจะลดหรือไม่ เพราะอาคารบางจุดยังจมอยู่ในน้ำ”เลขาธิการ กอศ.กล่าว
นายอดุลย์ชัย โคตะวีระ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ประธานอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ไม่คาดคิดว่าจังหวัดสกลนคร จะอาการหนักขนาดนี้ มาดูแล้วมีพื้นที่เกือบทุกอำเภอถูกน้ำท่วม ซึ่งตนได้ประสานไปยังสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาดูแล ซึ่งสถานศึกษาก็ระดมกันมาช่วยเหลือ 52 สถานศึกษา 64 จุด โดยเริ่มเปิดศูนย์ซ่อมสร้าง ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. ถึง 6 ส.ค.60 แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่กลับสู่ปกติก็อาจจะขยายเวลาออกไปอีก
“ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ที่เปิดบริการในบางสถานศึกษา ค่อนข้างหนาแน่นมีพี่น้องประชาชนเดินทางมาขอรับบริการมาก เช่นที่ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด ซึ่งในพื้นที่เหล่านั้นก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน เราก็ประสานเพิ่มเติมไปยังสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดอื่น อศจ.อ่างทอง วิเชียรบุรี และอินทร์บุรี มาช่วยเสริม ซึ่งต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวอาชีวะด้วย”
สำหรับสถาบันอาชีวศึกษาได้รับความเสียหายหนักเช่นกัน โดย นายณัฎฐพล พูนประสิทธิ์ ผอ.วิทยาลัยเทคนิค(วท.)สกลนคร กล่าวว่า น้ำท่วมสกลนคร ครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 45 ปี ที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงน้ำท่วมตามฤดูกาล อย่างมากไม่เกิน 1.5เมตร แต่ครั้งนี้ประมาณการกันผิด น้ำป่าไหลบ่ามาเร็วมาก ฝนตกทุกวัน สปิลเวย์ต้านไม่ไหว และบังเอิญที่ วท.สกลนคร อยู่ระหว่างกลางพื้นที่รับน้ำจากห้วยทราย ระบายลงสู่หนองหาน จึงทำให้น้ำเอ่อขึ้นเร็วมาก ไม่ถึงชั่วโมงน้ำทะลักท่วมถึงห้องทำงาน และห้องฝึกปฏิบัติงานของวิทยาลัย
โดยเฉพาะเครื่องมือ เครื่องจักร สาขาช่างยนต์ ช่างเทคนิคอุตสาหกรรม ช่างเชื่อม ห้องคอมพิวเตอร์ รวมถึงหนังสือสืบค้น หนังสือช่าง ก็ได้รับความเสียหาย ต้องซื้อใหม่ เพราะถูกน้ำขังท่วมอยู่ 2 วันเต็มๆ รถ บ้านพักครูก็ถูกน้ำท่วม ประมาณการค่าเสียหาย 20 กว่าล้านบาท
“แม้ว่า วท.สกลนคร จะได้รับผลกระทบน้ำท่วมเสียหายมากเช่นกัน แต่เราก็ไม่ทิ้งภารกิจที่จะต้องออกไปช่วยซ่อมสร้าง ทั้งที่เราควรที่จะช่วยเหลือตัวเองก่อน ซึ่งขณะนี้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต่างนำเครื่องใช้ไฟฟ้า มาให้ซ่อมแซม โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีจำนวนมาก เพราะประชาชนต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป”
ด้านนายสถิต สำราญสุข ผอ.วก.พรรณนานิคม จ.สกลนคร กล่าวว่า ขณะนี้ทางวิทยาลัยยังไม่สามารถเปิดสอนได้ ระหว่างนี้ก็ต้องระดมเด็กช่างไปช่วยเหลือประชาชนก่อน โดยแบ่งเป็นคณะๆ มีอาจารย์ควบคุมออกไปตามจุดต่าง ๆ ซึ่ง วก.พรรณานิคม รับผิดชอบใน 3 อำเภอ 24 ตำบล
“ขณะนี้น้ำยังท่วมขังวิทยาลัย เพราะพื้นที่ของ วก.พรรณานิคม จะแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกอยู่ในพื้นที่ต่ำ เฟสสองอยู่พื้นที่สูง ซึ่งเฟสแรกถูกน้ำท่วมเกือบมิดหลังคา บ้านพักครู 40 ครอบครัวจมน้ำหมด เป็นแต่ปัญหาใหญ่พอควร ครูบางคนสอนอยู่ที่นี่มาเกือบ 20 ปี สิ่งของเครื่องใช้ที่สะสมมาครึ่งชีวิตในการทำงาน จมน้ำหมด ผมเองก็เหมือนกัน เพื่อนครูแทบจะนอนไม่หลับ แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินการต่อไป ก็ได้แต่หวังแต่ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ มาดูมาเห็นแล้วจะเยียวยาให้กับครูเหล่านี้ และในระยะยาวก็หวังใจว่าจะมีการปรับปรุงพัฒนาวิทยาลัยสร้างอาคารใหม่ที่สูงขึ้น ไม่ต้องจมน้ำอีกต่อไป”ผอ.สถิต กล่าวทิ้งท้าย
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ