วารินทร์ พรหมคุณ
76 ปีกับปริญญาแรกของอาชีวศึกษา
76 ปีของการเป็นการอาชีวศึกษาไม่เคยมีปริญญาเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาเกิดขึ้น โดยการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่จัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำที่ได้มาตรฐาน ใช้หลักสูตรที่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป นั่นคือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (Bachelor of Technology) ผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษา สายเทคโนโลยีบัณฑิต อักษรย่อ ทล.บ. ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีสมรรถนะในการปฺฏิบัติ และพัฒนางานในระดับเทคโนโลยี สามารถปฏิบัติงานและเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานได้ หรือประกอบอาชีพอิสระ และพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบอาชีพ และมีจิตอาสาในการช่วยเหลือสังคมด้วย
วันที่ 4 สิงหาคม 2560 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของการอาชีวศึกษา
ที่บัณฑิตสายเทคโนโลยี จากสถาบันการอาชีวศึกษา 23 แห่งทั่วประเทศ ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อพระราชทานปริญญา แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ถึงปีการศึกษา 2559 จำนวนกว่า 3,000คน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
โดยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทั้ง3ปีการศึกษา มีงานทำ 99% และ 1% ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น สร้างความภาคภูมิใจให้แก่บัณฑิตสายเทคโนโลยีทุกผู้ทุกนาม
ทั้งนี้ “พิธีสำเร็จการศึกษา” เป็นพิธีการพิเศษซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจัดขึ้นเพื่อมอบปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจัดให้มีขึ้นในต่างประเทศมาก่อน เช่นสหรัฐอเมริกา หรือหลายประเทศในทวีปยุโรป ต่อมาประเทศไทย จึงเริ่มรับเอาพิธีการดังกล่าวเข้ามา โดยกราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์ เพื่อเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเป็นประธาน จึงบัญญัติศัพท์ให้เรียกว่า “พิธีพระราชทานปริญญาบัตร” และตั้งแต่ปี 2542จนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศ์ เสด็จฯ แทนพระองค์…แต่ภายหลังมีสถาบันอุดมศึกษา จัดพิธีอย่างเดียวกันโดยมิได้กราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์ หรือกราบทูลเชิญพระบรมวงศ์เสด็จพระราชดำเนิน หรือทูลเชิญพระอนุวงศ์เสด็จไปทรงเป็นประธาน จึงบัญญัติเป็นศัพท์เรียกขึ้นใหม่ว่า “พิธีประสาทปริญญาบัตร”
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.เป็นองค์กรภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากร ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ถึงระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ ทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศ ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่สมเด็จพระเจ้ าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยี จากสถาบันการอาชีวศึกษา ทั้ง 23 แห่ง
…และผลสำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาด้านวิชาชีพของอาชีวศึกษา ให้ดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่องได้ถึงระดับปริญญาตรี โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ให้สถาบันการอาชีวศึกษา เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีเป้าหมายหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นบัณฑิตนักเทคโนโลยีสายปฏิบัติการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของกำลังคนของประเทศ
“สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยการกระทำประโยชน์เกื้อกูลกัน และทุกคนที่อยู่ร่วมกันย่อมเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ประโยชน์ บัณฑิตในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับในความรู้ความสารมารถ จึงควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมทุกเมื่อ”
พระบรมราโชวาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดิทรเทพยวรางกูร
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2550
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ