วง KU Wind และวง Nontri Orchestra Wind โดยนิสิตเกษตรศาสตร์ คว้าชัยชนะเหรียญทองเกียรตินิยม 91.0 คะแนน ประเภทนั่งบรรเลง (Concert) 1st Division ในประกวดดนตรีโลก ครั้งที่ 18 ที่เนเธอร์แลนด์
นับเป็นครั้งที่สองของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่วงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ วง KU Wind (Kasetsart University Wind Symphony) นิสิตปัจจุบันภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มก. และ วง Nontri Orchestra Wind (N.O.W ) วงดุริยางค์เครื่องลมกึ่งอาชีพวงแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นนิสิตเก่าของ มก. พร้อมด้วยอาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ อาจารย์จิณณวัตร มั่นทรัพย์ ดร.นิพัต กาญจนหุต รวมทั้งสิ้น 75 คน เข้าร่วมการแข่งขันการประกวดดนตรีโลก World Music Contest 2017 หรือ WMC ครั้งที่ 18 โดยประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย
จากผลงานทางดนตรีที่มาจากหัวใจของนักดนตรีชาวไทย สู่นักดนตรีและผู้ฟังนานาประเทศ ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรตินิยม (Gold with distinction) ด้วยคะแนน 91.0 ประเภทนั่งบรรเลง (Concert) 1St Division จากการแข่งขันในรอบ ชิงชนะเลิศของการประกวดดนตรีโลก World Music Contest 2017 หรือ WMC ครั้งที่ 18 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง ประเภท World Division จากการประกวดวงเครื่องกระทบ (Percussion Ensemble) ด้วยคะแนน 89.4 เป็นครั้งแรกอีกด้วย
ทั้งนี้ การประกวดดนตรีโลกWorld Music Contest 2017 หรือ WMC ครั้งที่ 18 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-31 ก.ค.60 ณ เมือง Kerkrade ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
อย่างไรก็ดี เมื่อ 4 ปีก่อน ในการประกวดดนตรีโลก ครั้งที่ 17 หรือ WMC 2013ที่เนเธอร์แลนด์ วง KU Wind และ วง N.O.W. ของ มก. เข้าร่วมการประกวดเป็นครั้งแรก และสามารถคว้าชัยชนะได้สำเร็จ ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรตินิยมเป็นที่ 1 ของทวีปเอเชีย และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ด้วยคะแนน 93.67
“…วงดุริยางค์เครื่องลมฯ
เป็นวงเดียวที่ผู้ชมร่วม
Standing Ovation
อย่างยาวนาน…”
พร้อมกันนี้ วงดุริยางค์เครื่องลมฯ ยังได้มีโอกาสทำการแสดงสดเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ใน 3 รายการ ดังนี้ การแสดงคอนเสิร์ตและการแสดงร่วมกับวงดุริยางค์เยาวชนภาคพื้นยุโรป European Union Youth Wind Orchestra ณ Rodahal เมือง Kerkrade ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ การแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับวง Sint-Martinus Opgrimbie ณ เมือง Opgrimbie ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม และการแสดงคอนเสิร์ต ณ โรงละครกลางแจ้ง Openluchttheater Valkenburg ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
สำหรับการแสดงคอนเสิร์ต ทั้ง 3 รายการ นั้น วงดุริยางค์เครื่องลมฯ ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร อาทิ เตือนใจ แสงเดือน แผ่นดินของเรา พร้อมทั้งได้นำบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน ได้แก่ พระราชาในนิทานฉบับเนื้อร้องภาษาอังกฤษ รวมถึงบทเพลงไทย อาทิ ลาวสมเด็จ เต้ยโขง ระบำลพบุรี ไปเผยแพร่ ร่วมกับบทเพลงตะวันตกอื่น ๆ มากมาย โดยมี อาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ อาจารย์จิณณวัตร มั่นทรัพย์ ดร.นิพัต กาญจนหุต เป็นผู้อำนวยเพลง การแสดงได้รับความชื่นชมจนผู้ชมลุกขึ้นยืนปรบมือ (Standing Ovation) ในทุกรายการ
โดยเฉพาะในการบรรเลงประกวด วงดุริยางค์เครื่องลมฯ เป็นวงเดียวที่ผู้ชมร่วม Standing Ovation อย่างยาวนาน
…การประกวดดนตรีโลก ถือว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่มีการจัดประกวดทุกๆ 4 ปี ในเดือนก.ค. เป็นการประกวดที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า เป็นเทศกาลดนตรีที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับดนตรีประเภทกลุ่มเครื่องดนตรีเครื่องเป่า โดยมีวงดุริยางค์จากหลายประเทศทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเข้าร่วมการประกวดในประเภทต่างๆ อาทิ การประกวดมาร์ชชิ่ง หรือเดินสวนสนาม การเดินพาเหรด แปรขบวน รวมถึงการบรรเลงคอนเสิร์ต หรือประกวดประเภทนั่งบรรเลง
…นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของประเทศไทย และ มก. ที่ได้แสดงศักยภาพด้านการบรรเลงดนตรีประเภทวงดุริยางค์เครื่องลมของประเทศไทย ให้คนทั่วโลกได้รู้จักในเวทีประกวดดนตรีโลก ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในโลก เปรียบได้กับการแข่งขันโอลิมปิคด้านดนตรี
“…ขอขอบคุณเพื่อนร่วมเส้นทางดนตรี WMC.2017 ทุก ๆ คนที่ร่วมกันสร้างผลงานทางดนตรีที่ออกจากหัวใจของนักดนตรีชาวไทยสู่นักดนตรีและผู้ฟังนานาประเทศ พวกเรารู้สึกภูมิใจกันทุกคนเมื่อสิ้นเสียงสุดท้ายของบทเพลง ผู้ชมได้ยืนขึ้นปรบมือชื่นชมอย่างยาวนาน (Standing Ovation) พวกเรารู้สึกอิ่มเอมในหัวใจที่พวกเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันสร้างเกียรติภูมิให้แก่ประเทศ และร่วมกันบรรเลงเพื่อน้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่เราลืมตาเกิดขึ้นมาในรัชสมัยของพระองค์ท่าน
…สุดท้ายนี้ขอขอบคุณนักดนตรีทุก ๆ คน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ท่าน ที่ร่วมสนับสนุนและให้ความอนุเคราะห์ให้พวกเรามาแสดงผลงานในครั้งนี้ ขอบคุณครับ…”
หมายเหตุ ข้อความจากเฟซบุ๊ก Surapol Thanyawibool หรืออาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ หัวหน้าสาขาดนตรีตะวันตก ภาควิชาดนตรี คณะนุษยศาสตร์ และผู้ควบคุมวงดุริยางค์เครื่องลมฯ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ