ที่ประชุมอธิการบดี “ราชภัฏ” มองต่างมุมกรณีหลักสูตรผลิตครู ชี้อย่าด่วนสรุปกลับไปใช้หลักสูตร 4 ปีผลิตครูโดยไม่ฟังกระแสท้วงติง “อธิการฯสวนสุนันทา” ควรนำผลงานวิจัยที่บอกว่าหลักสูตรปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกับหลักสูตร 4 ปี มาตีแผ่ให้สังคมรับรู้ อย่าอ้างลอยๆ หากจะล้มเลิกก็ต้องหักล้างกันด้วยงานวิชาการ
รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า ตามที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้เสนอให้มีการลดระยะเวลาการเรียนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต จาก 5 ปี เป็น 4 ปีนั้น จากการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 ที่ผ่านมา ที่อาคารศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมด้วยนั้นปรากฏว่าที่ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกระแสเสียงส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย ที่สภาคณบดีฯ จะเร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้ทั้งๆ ที่ยังมีข้อมูลและแนวคิดที่หลากหลาย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้ อธิการบดีส่วนใหญ่ยังมองว่าที่ผ่านมาหลักสูตรครู 5 ปี ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ดำเนินไปด้วยความราบรื่น การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรมีข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน ทำให้ทุกๆ ฝ่ายยอมรับไม่มีกระแสคัดค้าน และมองต่างมุมมากเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้
“ที่ประชุมได้ให้ความเห็นและให้ข้อคิดกับสภาคณบดีฯ ว่าควรจะเอาข้อมูลและงานวิจัยที่มีอยู่ มาประมวลและสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะการผลิตครูเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องใช้ความรอบคอบ ที่ประชุมไม่มีการประกาศเจตนารมณ์ หรือแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เพราะเหตุผลคือยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่กล้าที่จะชี้นำสังคม ซึ่งในทำนองเดียวกันการประกาศจุดยืนของสภาคณบดีฯ จนถึงขั้นไปนำเสนอต่อสภาวิชาชีพนั้น ก็ควรที่จะต้องมีพื้นฐานจากงานวิชาการด้วย อย่าอ้างแค่เพียงข้อค้นพบชิ้นใดชิ้นหนึ่งแล้วจะมาล้างทั้งระบบ“
อธิการบดี มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย อ้างว่ามีงานวิจัยพบว่าผลผลิตของหลักสูตร 4 ปี กับ 5 ปี ไม่มีความแตกต่างกัน ในส่วนตัวอยากให้เอาผลงานเล่มนี้ออกมาแสดงให้สังคมให้ประจักษ์ เพราะต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ ใครคือผู้วิจัย ได้แหล่งทุนจากแหล่งใด รวมทั้งในประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบวิธีวิจัย ประชากร กลุ่มตัวอย่าง หรือเครื่องมือที่นำไปวัด เพราะคุณภาพบัณฑิตต้องวัดกันในทุกมิติ ทั้งความรู้ เจตคติและภาคปฏิบัติ ที่บอกว่าไม่แตกต่างนั้น…ไม่แตกต่างในส่วนไหนบ้าง
ซึ่งกรณีนี้หากผลออกมาเป็นเช่นนั้นจริง ในเบื้องต้นบรรดาคณบดีครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ทั้งหลายต้องออกมาร่วมกันรับผิดชอบ เพราะใช้เวลาเพิ่มขึ้น 1 ปี แต่ไม่สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มใด ๆ ให้เกิดขึ้นกับบัณฑิตได้เลย
“อยากให้สภาคณบดีฯ ไปเปิดดูประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลักสูตร 5 ปี เพราะเกิดขึ้นในยุคที่วิชาชีพครูตกต่ำมาก มีงานวิจัยออกมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ ในขณะนั้น ให้งบประมาณในการศึกษาวิจัยได้ผลออกมาแล้ว ก็ทำประชาพิจารณ์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ…เรียกได้ว่าทำถูกต้องตามหลักวิชาการทุกประการ
แต่สำหรับข้อมูลที่ผมรับทราบ ณ ขณะนี้ ยังไม่เห็นงานวิจัยที่ชี้ชัด ดั่งกับที่สภาคณบดีฯ กล่าวอ้าง เห็นมีแต่ข้อเขียนและบทวิเคราะห์ของคณบดีบางคนเท่านั้น และประธานสภาคณบดีฯ ก็ยกกล่าวอ้างแต่คนที่เห็นด้วยกับหลักสูตร 4 ปีเท่านั้น คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่นำเสนอให้ทราบ เรื่องนี้ควรที่จะต้องเป็นเอกภาพ จุดยืนของสภาคณบดีฯ เองในช่วง 2-3 ปีนี้ก็ยังสับสน อดีตประธานฯ คนก่อนออกมาเชียร์หลักสูตร 5 ปี แต่ประธานฯ คนนี้บอก 4 ปีดีกว่า ตกลงเอายังไงกันแน่ มศว ของท่านอยากได้ 4 ปี ไปถามครุศาสตร์ จุฬาฯ ดูแล้วหรือยังว่า เขาจะเอากับท่านหรือไม่”
รศ.ดร.ฤๅเดช ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้อยากให้มีข้อสรุปในเชิงวิชาการ สภาคณบดีฯ ไม่ควรผลีผลามเร่งรัด เป็นนักวิชาการก็ต้องใช้เหตุผลเชิงวิชาการร ไม่ควรเลือกข้อมูล หรืองานวิจัยเฉพาะที่ตัวเองเห็นด้วย มานำเสนอรวมทั้งไม่ควรมีการล็อบบี้ ระดมคนเพื่อหาเสียงสนับสนุนความคิด
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ