พิมพ์คู่มือ3หมื่นเล่มแจกศูนย์เด็กปฐมวัย พร้อมจัดประเมินผล 3 ระดับ ดีเยี่ยม ผ่านเกณฑ์ ไม่ผ่านเกณฑ์ สร้างมาตรฐานใหม่
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่สภาการศึกษาได้รับมอบหมายให้จัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ.2560 สำหรับเด็กแรกเกิด ถึงก่อนประถมศึกษาปีที่ 1 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่กำหนดให้เรียนฟรี 12 ปี ว่า ขณะนี้สภาการศึกษาได้จัดทำร่างใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า มีเด็กอายุ 4 ขวบ ที่ยังตกหล่นไม่ได้เข้าระบบการศึกษา จำนวน 70,000 คน เด็กอายุ 5 ขวบ มีจำนวน 83,000 คน และ 6 ขวบ มีจำนวน 82,000 คน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เด็กเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ศึกษาธิการจังหวัดจะต้องเป็นเจ้าภาพไปสำรวจดูว่าในพื้นที่จังหวัดของตัวเองยังมีเด็กตกหล่นไม่ได้เรียนในระบบอยู่จำนวนมากน้อยแค่ไหน
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จะเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท.)70% อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาในสังกัด ว่าหน่วยงานใดมีความพร้อมจะเปิดรับเด็กก่อนเกณฑ์ก็สามารถเปิดสอนได้ แต่ขอให้เปิดโดยที่ไม่ต้องไปแย่งเด็กของหน่วยงานอื่น หน่วยงานใดเปิดสอนแล้วก็ให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการบริหาร ส่วนในเรื่องของวิชาการจะต้องมีกระบวนการเข้าไปจัดการ เพื่อให้เด็กมีคุณภาพการเรียนการสอนเท่าเทียมกัน ซึ่งสภาการศึกษาต้องมาทำในเรื่องของมาตรฐานว่า หากหน่วยงานใดจะเปิดสอนอนุบาลจะต้องมีมาตรฐานอย่างไร
โดยจะแบ่งออกเป็น 3 มาตรฐาน คือ มาตรฐานด้านที่ 1 การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการบุคลากร จัดสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น มาตรฐานด้านที่ 2 การดูแลและกระบวนการการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น ดูแลพัฒนาเด็กอย่างรอบคอบ ส่งเสริมและดูแลสุขภาพ ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและสังคม เป็นต้น และมาตรฐานด้านที่ 3 คุณภาพของเด็ก เช่น เด็กมีพัฒนาการสมวัยตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เด็กมีพัฒนาการด้านสุขนิสัยและร่างกายเติบโดเหมาะสม เป็นต้น ซึ่งจะแบ่งเด็กแรกเกิดอายุ 0-3 ขวบ เด็กอายุ 3-6 ขวบ ว่ามีพัฒนาการด้านใดบ้าง โดยสภาการศึกษาจะจัดพิมพ์คู่มือ 30,000 เล่มเพื่อแจกจ่ายไปยังศูนย์เด็กปฐมวัยต่าง ๆ
“ต่อไปนี้จะมีการตั้งงบประมาณสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้ไปพัฒนาครูและซื้อสื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ และต้องมีการลงไปติดตามประเมินผลเพื่อให้การศึกษาเด็กปฐมวัยมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ซึ่งโรงเรียนอาจจะมี 3 รูปแบบคือ ดีเยี่ยม ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็ต้องเข้าไปดูแลเพื่อให้เด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งหมด”ดร.กมล กล่าว
/////////////////////
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ