สอศ.เคลียร์ 13 พื้นที่ตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมทางไกล (Web Conference ) ติดตามความก้าวหน้าศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC TVET Career Center (Eastern Economic Corridor Technical and Vocational Education and Training Career Center) และเปิดเผยภายหลังว่า
ขณะนี้มีศูนย์ประสานงานฯ ใหญ่จัดตั้งอยู่ที่วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี โดยจะใช้ชื่อว่า “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (EEC TVET Career Center) และศูนย์ประสานงานหลักและศูนย์ประสานงานย่อยอีก 13 ศูนย์ ดังนี้
จ.ชลบุรี ศูนย์ประสานงานหลัก “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี ศูนย์ประสานงานฯ ย่อย ได้แก่ 1.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี 2.วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) และ 3.วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง
จ.ระยอง ศูนย์ประสานงานหลัก ได้แก่ “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษจังหวัดระยอง” วิทยาลัยเทคนิคระยอง ศูนย์ประสานงานย่อย ได้แก่ 1.วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จ.ระยอง 2.วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จ.ระยอง และ 3.วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี
จ.ฉะเชิงเทรา “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษจังหวัดฉะเชิงเทรา” วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ศูนย์ประสานงานย่อย ได้แก่ 1.วิทยาลัยการอาชีพบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 2.วิทยาลัยการอาชีพพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 3. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา และ 4.วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา
โดยศูนย์ประสานงานหลัก และศูนย์ประสานงานย่อย ทั้ง 13 ศูนย์ มีความพร้อมของพื้นที่และได้จัดตั้งศูนย์ ข้อมูลสารสนเทศ บุคลากร อุปกรณ์สำนักงาน ครุภัณฑ์พร้อมดำเนินการในด้านต่าง ๆ
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการจัดตั้งโครงสร้างศูนย์ประสานงานฯ หรือ EEC TVET Career Center ยังมีความก้าวหน้าทางด้านการบริหารจัดการ เช่น ด้านการให้บริการข้อมูล เพื่อวางแผนการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล การประเมินและวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนรองรับกำลังคนในอุตสาหกรรม 4.0 และภาคบริการ ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับสถานประกอบการ และหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน
ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้จัดทำเว็บไซต์ eec.vec.go.th ของศูนย์ประสานงานฯ เพื่อให้บริการข่าวสารข้อมูล ความก้าวหน้าในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา อัตราความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีใหม่ หลักสูตรที่สอดคล้องกับ S-Curve และ New S-Curve เช่น สาขายานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมการบิน-ซ่อมบำรุงอากาศยาน โลจิสติกส์ การคมนาคมระบบรางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูง เป็นต้น โดยผู้ประสงค์จะเข้าชมเว็บไซต์ หรือใช้งานข้อมูลสามารถดูรายละเอียดความก้าวหน้าต่างๆ ของทุกศูนย์ประสานงานฯ
อย่างไรก็ตาม สอศ.มีเป้าหมายการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา ปี 2560-2564 เพื่อสนับสนุนเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC (Eastern Economic Corridor) แบ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น 125,880 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 29,925 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 39,250 คน และปริญญาตรี 2,430 คน
——————–
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ