ตั้งชุดเฉพาะกิจไขปัญหาเกณฑ์ใหม่วิทยฐานะครู บรรจุก่อน 5 ก.ค.60 อิงเกณฑ์ ว17 ย้ำนับชั่วโมงสอนยืดหยุ่นตามสภาพครูแต่ละสังกัด ต้องไม่ดึงครูออกจากห้องเรียน-ไม่เพิ่มภาระ
วันที่ 30 มิ.ย.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) วาระพิเศษ ว่า ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้า การปรับปรุงร่าง หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะแบบใหม่ ซึ่งจะประกาศใช้วันที่ 5 ก.ค.นี้ โดยที่ประชุมได้หารือ รายละเอียดในส่วนของชั่วโมงการปฏิบัติงานสอน และแบบประเมินวิทยฐานะ ซึ่งในส่วนของการปฏิบัติงานสอนกำหนดไว้ 800 ชั่วโมงต่อปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมพิจารณาครูแต่ละสังกัด มีวิธีการสอนที่แตกต่างกัน ดังนั้นการนับชั่วโมงควรมีความยืดหยุ่นตามสภาพการจัดการสอน ขณะที่เอกสารหลักฐานที่นำมาใช้ประกอบการประเมิน จะต้องสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ไม่ดึงครูออกนอกห้องเรียน และต้องไม่เพิ่มภาระแก่ครู ซึ่งที่ประชุมมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดทั้ง 2 ส่วนมีความสอดคล้องกัน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา 1 ชุดเพื่อทำหน้าที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ ตอบปัญหาเกี่ยวกับการขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งในบทเฉพาะกาลจะกำหนดรายละเอียดการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้ที่บรรจุก่อนวันที่ 5 ก.ค.60 ได้แก่ กรณีได้ยื่นคำขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ ว17/2552 ไว้ก่อนแล้ว และยังไม่ทราบผลการพิจารณา ซึ่งถ้าผลการพิจารณาอนุมัติก็สามารถยื่นขอเลื่อนวิทยฐานะถัดไปได้ ในหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคุณสมบัติครบ แต่ถ้าไม่อนุมัติ ก็สามารถยื่นขอเลื่อนในหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติ และกรณีคุณสมบัติจะครบที่จะยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ หลังวันที่ 5 ก.ค.60 สามารถยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ตนเองมีคุณสมบัติครบ
และ 2.ผู้ที่บรรจุหลัง วันที่ 5 ก.ค.60 ให้ยื่นขอตามหลักเกณฑ์ใหม่เท่านั้น
“บทเฉพาะกาลจะดูแลครูทุกกลุ่ม แต่ประเด็นส่วนใหญ่ที่ครูเป็นห่วงคือ เรื่องของสิทธิในระยะเวลาการขอวิทยฐานะ โดยเฉพาะครูวิทยฐานะชำนาญการ เดิมจะขอเลื่อนวิทยฐานะชำนาญพิเศษ ใช้เวลา 1 ปี แต่หลักเกณฑ์ใหม่ใช้เวลา 5 ปี ซึ่งที่ประชุมได้หารือในประเด็นนี้ มีการอภิปรายว่าแม้หลักการจะระบุ 1 ปี แต่จากสถิติไม่เคยมีใครทำได้ ส่วนใหญ่ใช้เวลา 4-7 ปี ในการพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้วิทยฐานะชำนาญพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากสำนักงาน ก.ค.ศ.ว่ามีครูที่มีวิทยฐานะชำนาญการ ที่อายุราชการเกิน 5 ปีประมาณ 3 หมื่นคน และครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ อายุราชการเกิน 10 ปีประมาณ 1 หมื่นคน ที่ไม่ได้ทำผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะต่อด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์ สามารถยื่นขอประเมินวิทยฐานะเกณฑ์ใหม่ทันที ไม่ต้องทำผลงานวิชาการให้ยุ่งยาก”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ