เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.60 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี ทีม “พนมดิน Robot” วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม คว้าแชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู โรบอท คอนเทสต์ ภายใต้ชื่อการแข่งขัน “ยุทธการจานร่อน” เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ เอบียู เอเชีย แปซิฟิค โรบอท คอนเทส 2017 ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือน ส.ค.60 นี้
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย เป็นเวทีสำคัญที่ให้นักเรียนนักศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา กว่า 180 ทีม นำความรู้ความสามารถมาพัฒนาหุ่นยนต์มีศักยภาพสูงตามโจทย์ที่กำหนด มาประลองฝีมือด้านวิศวกรรม และการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ มาใช้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งเป็นอีกการแข่งขันที่ช่วยกระตุ้นความสนใจทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี นำไปสู่การพัฒนาการเรียนหรือยกระดับต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรของประเทศได้ในอนาคต
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศหุ่นยนต์ เอบียู โรบอท คอนเทส ประจำปี 2560 ภายใต้ชื่อการแข่งขัน“ยุทธการจานร่อน” มีการแบ่งทีมเข้าแข่งขันออกเป็น 2 ฝ่าย คือ สีแดง และสีน้ำเงิน แต่ละทีมมีหุ่นยนต์ทีมละ 1 ตัว คือ หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ กติกาการแข่งขันของเกมส์ คือ ผู้เล่นจะเป็นผู้บังคับหุ่นยนต์ให้สามารถร่อนจาน ไปวางบนเสาให้ได้มากที่สุดภายในระยะเวลาการแข่งขัน 3 นาที จะเป็นผู้ชนะ โดยมีอุปสรรคเป็นลูกบอล (Beach ball) วางอยู่บนเสาทุกต้น ผู้เล่นจะต้องให้ลูกบอลบนเสาหล่นจากเสาด้วย จานร่อนถึงจะสามารถนับเป็นคะแนนได้ โดยการแข่งขันจะมีเสาอยู่ทั้งหมด 7 ต้น
“ปีนี้ มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกในระดับอาชีวศึกษา 8 ทีม และอุดมศึกษา 8 ทีม รวมเป็น 16 ทีม ในรอบชิงแชมป์ประเทศไทย จาก 180 ทีมจากทั่วประเทศ และทีม “พนมดิน Robot จากวิทยาลัยการอาชีพท่าตูม จ.สุรินทร์ สามารถคว้าชัยชนะไปครอง โดยสามารถร่อนจานไปวางที่เสาได้คะแนนแบบชนะน็อก (APPARE) ด้วยเวลา 2.04 นาที ชัยชนะนี้ ถือเป็นสมัยที่ 7 ของทีมหุ่นยนต์จากอาชีวศึกษา
โดยได้รับรางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันชิงแชมป์หุ่นยนต์นานาชาติ เอบียู เอเชียแปซิฟิก คอนเทสต์ 2017 กับอีก 18 ประเทศ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือน ส.ค.นี้ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม GOLD GEAR จาก สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้รับเงินสด 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และทีมรองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีมเซราะกราวโรบอท วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ และทีม Mechartronics Destroyer 2 สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
สำหรับรางวัลอื่นๆ จากการแข่งขันในครั้งนี้ ได้แก่ รางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ทีม IND.Dragon NSRU Robot:Aspiration จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล, รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีมขุนด่านปราการชล 2 วิทยาลัยเทคนิคนครนายก ได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล, รางวัลศิลปะยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีมนาคาแห่งลุ่มน้ำโขง The Kazuki มหาวิทยาลัยนครพนมได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล, รางวัลนักประดิษฐ์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีม ลูกเจ้าแม่คลองประปา The Return มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และการประกวดกองเชียร์ โดยทีม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต สามารถเอาชนะใจกรรมการ ได้รางวัลชนะเลิศกองเชียร์ไปครอง
ทั้งนี้ การแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู โรบอท คอนเทสต์ ทาง บมจ. อสมท รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพต่อเนื่องเป็นปี ที่ 16 ในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันด้านหุ่นยนต์ระดับประเทศที่ได้รับความสนใจจากทีมอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง
—————–
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ