ชงปรับเล็กระดับโรงเรียน กระจายอำนาจเป็นนิติบุคคล
วันที่ 20 มิ.ย.60 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่าที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นางดารณี อุทัยรัตนกิจ และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นรองประธานคณะกรรมการอิสระฯ รวมถึงมีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ และนางภัทรียา สุมะโน เป็นโฆษก
นอกจากนี้ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5กลุ่ม ซึ่งแบ่งตามภาระกิจ ดังนี้ คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก มีนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน, คณะอนุกรรมการกองทุน มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน, คณะอนุกรรมการครู มีนายวิวัฒน์ เป็นประธาน, คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน มีนางยุวดี นาคะผดุงรัตน์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการโครงสร้าง มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน และมีมติแต่งตั้ง นายตวง อันทะไชย เป็นประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะเชิญบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นกรรมการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ต่อไป
รวมถึงได้เปิดเฟซบุ๊คและไลน์ ชื่อกลุ่ม “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยคณะกรรมการอิสระฯจะรวบรวมเพื่อนำความคิดเห็นทั้งหมดวิเคราะห์และหาข้อสรุปเพื่อวางแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
นพ.จรัส กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้มีการนำเสนอข้อมูลปัญหาการศึกษาไทย ที่หลายฝ่ายได้ศึกษามาโดยในส่วนของ สกศ. นำเสนอผลการศึกษาปัญหาการศึกษาไทย ซึ่งได้ถูกนำไปกำหนดแนวทางแก้ไขในแผนการศึกษาชาติระยะ 20ปีแล้ว ข้อมูลที่ สกศ.ได้วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทยออกมาอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าไปแก้ไข มีทั้งปัญหาการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ เด็กที่หลุดจะระบบการศึกษา ซึ่งจากรายงานพบว่ามีถึง 90,000-100,000 คนต่อปี ทั้งหมดรวมอยู่ในปัญหาความเหลื่อล้ำทางการศึกษา ปัญหาคุณภาพการศึกษา คุณภาพครู การจัดการเรียนการสอน ที่เราต้องเข้าไปแก้ไข ขณะเดียวกันยังนำผลการวิเคราะห์ปัญหาการศึกษา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มาพิจารณาด้วย การปฏิรูปครั้งนี้เราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อทำข้อเสนอไปยังรัฐบาล หรือบางเรื่องหากจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายก็เสนอไปก่อน
“ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)นั้นโครงสร้างใหญ่เราคงไม่ไปแตะ แต่มีการพูดคุยถึงการปรับโครงสร้างเล็ก ระดับโรงเรียน ว่าควรจะกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และให้ส่วนกลางทำหน้าที่กำกับดูแลให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวอย่างหลากหลาย และเห็นว่ามีทั้งโรงเรียนที่มีความพร้อมและไม่พร้อม จึงต้องพิจารณาว่าจะกระจายอำนาจลงไปอย่างไร จึงจะเกิดความเหมาะสม ส่วนการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีคณะกรรมการอิสระฯ ซึ่งคงต้องเดินหน้าต่อไป คงไม่ไปพิจารณาเรื่องนี้อีก”
นพ.จรัส กล่าวและว่า หากจะมีการปรับโครงสร้าง ศธ. ส่วนตัวเห็นว่า สกศ. เป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาการศึกษาชาติ ซึ่งเดิมการก่อตั้งให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ต่อมามีความเปลี่ยนแปลงมาอยู่ในกำกับ ศธ. ทำให้บทบาทหน้าที่เปลี่ยนไป ดังนันส่วนตัวจึงคิดว่าอาจจะต้องมาคิดใหม่ว่า จะทำอย่างไรกับ สกศ.ที่ถือเป็นหน่วยงานระดับมันสมองของประเทศ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ