เผยร่างพ.ร.บ.ยังไม่ตกผลึก-รอประชาพิจารณ์อีกรอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.60ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือที่ลงนามโดย น.ส.สาวิตรี ชำนาญกิจ ผู้อำนวยการกองนิติธรรม ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เรื่องรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาการบริหารจัดการสถาบันการอาชีวศึกษา ของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยหนังสือดังกล่าวได้อ้างถึงหนังสือสำนักเลขาธิการ ครม.ที่ นร 0503/7320 ลงวันที่ 1 มี.ค.60 ซึ่งระบุว่าตามที่ได้แจ้งคำสั่ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานการพิจารณา เรื่อง แนวทางในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการสถาบันการอาชีวศึกษา ของ สนช.ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการ ครม. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวได้ระบุว่า ระยะเวลาล่วงเลยมานานแล้ว สำนักเลขาธิการ ครม.ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาเรื่องดังกล่าว จึงเร่งรัดให้พิจารณาดำเนินการแล้วแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการ ครม.ทราบโดยด่วน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)ได้หารือร่วมกับคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาฉบับใหม่ พร้อมด้วยนายกฯ และ ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษา เกี่ยวกับการยกร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาฉบับใหม่ โดยนำพ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) มาพิจารณา
ซึ่งได้ข้อสรุปว่าในหมวดของสถาบันการอาชีวศึกษา กรณีการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาให้สถานศึกษาอาชีวศึกษารวมกันเป็นสถาบัน มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการทางงบประมาณในสังกัด สอศ. อาจแบ่งส่วนราชการ ดังนี้
1.สำนักงานอธิการบดี 2.สำนัก 3.คณะ และ4.วิทยาลัย ให้มีสภาสถาบันแต่ละแห่งจำนวน 15 คน มีวาระคราวละ 4 ปี, ให้มีอธิการบดี เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบการบริหารงานของสถาบัน ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีรองอธิการบดีอย่างน้อย 1 คน และอาจมีผู้ช่วยอธิการบดีหลายคน เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอื่น โดยในมาตรา 42 ระบุว่าปริญญามี 3 ชั้น คือ ปริญญาเอก เรียกว่าดุษฎีบัณฑิต, ปริญญาโท เรียกว่ามหาบัณฑิต, ปริญญาตรี เรียกว่าบัณฑิต สถาบันฯมีอำนาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่เปิดสอนในสถาบันฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาระดับปริญญา เป็นต้น
แต่ร่างดังกล่าวยังไม่ตกผลึก ต้องมีการพิจารณาปรับปรุงก่อนนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ และนำไปประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ