หนุนเยาวชนหันศึกษาสายอาชีพ วิเคราะห์ตลาดแรงงานไทย 25 ปีไม่ได้รวยจากทักษะที่เก่งขึ้น แต่เพราะทำงานหนักขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยโครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายสื่อสารด้านการปฏิรูป (Thai Reporter 4.0) จัดบรรยายพิเศษหัวข้อ เจาะตลาดแรงงาน bottom 40% แรงงานยุค 4.0 ที่ถูกลืม ซึ่งอยู่ในงานเทรนนิ่งนักรณรงค์สื่อสารมืออาชีพ ครั้งที่ 1
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวสรุปความก้าวหน้าของโครงการวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงานใน 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งมีการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มในการจ้างงานในระดับจังหวัด จากเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการทั่วประเทศจำนวน 40,000 แห่งว่า เมื่อคนพูดถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้นมีแง่มุมวิเคราะห์อยู่ 3 ประเด็น ดังนี้ 1.สังคมต้องทำความเข้าใจการพัฒนาเป็นองค์รวม ไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจ แต่เป็นการหมายรวมถึงสภาพสังคมใหม่ของประเทศไทย ที่อาศัยความทันสมัยของดิจิตอลมาช่วยขับเคลื่อนในทุกด้าน
2.การส่งเสริมให้เกิดการเรียนในสายอาชีพ วิชาชีพ (ปวช./ปวส./สายสามัญที่มีการเรียนแบบฝึกอาชีพในโรงเรียน) มากกว่าการมุ่งเรียนแต่ปริญญา เพราะดูจากข้อมูลในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะยอดการส่งออกของประเทศไทยพบว่า ธุรกิจจะมีการปรับตัวภายใน 5 ปี แต่ไทยยังขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ซึ่งหากเราสามารถยกกลุ่มแรงงานกลุ่มล่างสุดที่เรียกว่า “bottom 40%” นี้ขึ้นมาได้ ไทยจะสามารถถีบตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0
และ 3. ระบบการศึกษาต้องหนุนเสริมให้เกิดการเรียนรู้สายอาชีพ 4.0 มีความพร้อมทั้งครู ทั้งเครื่องจักร และระบบนิเวศการเรียนรู้ ไม่ใช่เรียนแต่ในห้องเรียน หรือแม้แต่เรียนอาชีวศึกษาในปัจจุบันที่เครื่องไม้เครื่องมือยังต่างจากในสถานประกอบการจริง
“สิ่งที่ซ่อนในข้อมูลที่ชี้ว่า การจบปริญญาตรีสุดท้ายแล้วจะมีโอกาสดีกว่าอาชีพในระยะยาวนั้น เป็นเพราะกระบวนการในการผลิตคนสายอาชีพ ยังไม่ถูกผลักให้พวกเขาอยู่ในระดับสายอาขีพที่เก่งที่สุด ฉะนั้น สิ่งที่เด็กเรียนในโรงเรียนกับสถานศึกษา ต้องเน้นการเรียนแบบประยุกต์ ใช้เครื่องจักรในยุคดิจิทัล มิใช่เรียนแต่เรื่องฟังชั่น เพราะตลอด 25 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างการจ้างงานในประเทศไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลง นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้รวยจากการพัฒนาทักษะให้เก่งขึ้น แต่เป็นเพราะเราทำงานหนักขึ้น ฉะนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน และเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ เช่น ไทยใช้แรงงานต่างด้าวในช่วง 10 ปีหลัง ทั้งที่ในความจริงควรเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น แต่เป็นใช้แรงงานต่างด้าวแทน ซึ่งถ้าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ต่อไป โดยไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิต สุดท้ายไทยจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวว่าปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีวาระการพัฒนาคนไทยที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21: เน้นการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเปลี่ยนฐานกำลังคนยุค 2.0 3.0 เป็น 4.0, การพัฒนาแรงงานฝีมือจำนวน 5 แสนคนใน 5 ปี, การพัฒนา IQ เด็กเยาวชนไทยไม่ให้ต่ำกว่ามาตรฐาน 100, การรักษา EQ เด็กเยาวชนไทยให้เกินมาตรฐาน และ การผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยอย่างน้อย 3 แห่งติดท็อป 100 ของโลก ซึ่งนี้ถือเป็น Roadmap การศึกษาในมิติเชิงคุณภาพ
แต่ในมิติลดความเหลื่อมล้ำนั้น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) กลับพบว่า ความเหลื่อมล้ำของทางเศรษฐกิจและสังคม การศึกษา เป็นช่องว่างที่ทำให้ ‘ดัชนีการพัฒนามนุษย์’ (the Human Development Index: HDI) ของประเทศไทยต่ำกว่าคะแนนที่ควรจะเป็นถึงร้อยละ 20
“สำหรับโจทย์แรกในการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 เมื่อดูในรายละเอียด นายกฯใช้คำว่า ‘คนไทยในเจนเนอเรชั่น 4.0’ ควรมีคุณลักษณะและมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างไรบ้าง ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ KPI ใน 5 ปีแรก จะพบไทยต้องพัฒนาในหลายประเด็น อาทิ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ปี 2558 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 87 จาก 188 ของโลก ไทยต้องถีบตัวขึ้นสู่ลำดับที่ 60 ซึ่งเป็นอันดับที่ใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน
ในส่วนเยาวชนที่มีการใช้คะแนน PISA เป็นตัววัด ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 500 คะแนน โดยมีเป้าหมายติดอันดับ 1 ใน 35 ประเทศแรกให้ได้ ขณะที่ไทยปัจจุบันรั้งอันดับ 54 ในปี 2015 โดยการจัดสอบ PISA ครั้งต่อไปในปี 2021 และปี 2027 ซึ่งจะเพิ่มการวัดประเมินเรื่องสมรรถนะเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) และการคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ด้วย สะท้อนให้เห็นถึงทักษะที่จำเป็นในโลกยุคติจิตอล 4.0 ในขณะที่เมื่อดูมิติความเหลื่อมล้ำจะพบว่า สัดส่วนประชากรไทยที่อยู่ใต้เส้นความเหลื่อมล้ำต้องลดลงร้อยละ 7.4 และระดับความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Gini Coefficient) ต้องลดลงร้อยละ 16.25 ภายใน 5 ปีข้างหน้า ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายของไทยแลนด์ 4.0 ได้ เชื่อว่ารัฐบาลทราบดีว่าความเหลื่อมล้ำนี่เป็นโจทย์หลัก และหากขับเคลื่อนสำเร็จก็จะส่งผลให้คะแนน HDI เป็นไปตามเป้าได้ภายใน 5 ปี
ดร.ไกรยส ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มนั้น เนื่องจาก HDI ให้ความสำคัญคุณภาพชีวิตที่ยืนยาว วัดโดยอายุไขเฉลี่ยของประชากรไทยโดยรวม และความรู้วัดโดยจำนวนปีที่นักเรียนอยู่ในระบบการศึกษา (expected year of schooling) ซึ่งปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยสูงราว 13.6 ปี และจำนวนปีการศึกษาของประชากร (mean year of schooling) ค่าเฉลี่ยราว 7.9 ปี รวมทั้งมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่ที่วัดโดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรไทย
ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการจะบรรลุเป้าหมาย ยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศที่มีคุณภาพมนุษย์ติดอันดับ 60 ประเทศสูงสุดของโลกแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องขจัดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้หมดไปภายใน 5 ปี รัฐบาลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อในสายอาชีพ และควรมีนโยบายเพื่อลดอัตราการออกจากการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล-ม.ปลาย/ปวช.) เพราะหากรัฐบาลสามารถเปลี่ยนเยาวชนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิ ป.6 หรือ ม.3 ซึ่งจะกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่รายได้น้อย ไปสู่เยาวชนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีฝีมือด้วยวุฒิ ปวช. ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาการเหลื่อมล้ำประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
รวมทั้งทำให้คุณภาพความรู้และคุณภาพชีวิตของคนไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจนสามารถนำไปสู่คนไทยเจน 4.0 ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ใน 5 ปีแรกได้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ