วารินทร์ พรหมคุณ
หมายเหตุ – ตามที่ ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นติง”ร่าง พ.ร.บ.อาชีวะใหม่”สะท้อนการศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่ ทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ชี้เดินตามรอย “ราชภัฏ-ราชมงคล”หวั่น!!จะสร้างปัญหาในอนาคตนั้น
“วิศวะ คงแก้ว” ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ คณะทำงานปรับปรุงพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ออกมาชี้แจงว่า
“…เรื่องนี้น่าจะเป็นการไม่ทราบข้อเท็จจริงของบุคคลดังกล่าว ซึ่งผมจะชี้แจงให้ได้ทราบเป็นขั้นตอนว่า ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการอาชีวศึกษา ฉบับนี้เป็นการปรับปรุงข้อด้อยของ พรบ.อาชีวศึกษา พ.ศ.2551ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อการบริหารการอาชีวศึกษาตามแบบของมหาวิทยาลัย ที่พัฒนามาจากสถานศึกษาระดับเดียวกันกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาในอดีต ที่พัฒนาถึงระดับอุดมศึกษาแล้วขาดจิตวิญญาณเดิมที่เคยเป็นมา เช่น ในอดีตการจัดการศึกษาเราได้ครูดี ที่มีคุณภาพ มาจากการสร้างครูของโรงเรียนฝึกหัดครู/วิทยาลัยครู ปัจจุบันเราไม่มีสถาบันเหล่านี้สำหรับการสร้างครูอีกแล้ว การจัดอาชีวศึกษา จะต้องจัดการใหม่ตามวัตถุประสงค์เดิมที่สำคัญ คือการพัฒนากำลังคนในสายวิชาชีพ ระดับ ปวช. และปวส. การที่จะมี “บัณฑิตอาชีวศึกษา” ประเภทสายปฏิบัติการหรือเทคโนโลยีบัณฑิต นั้นมาจากกระบวนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่สถาบันอุดมศึกษาอื่นไม่ได้ทำ แต่อาชีวศึกษาทำได้ ตามกฎหมายอาชีวศึกษา เป็นการผลิตกำลังคนตามจำนวนความต้องการของตลาดแรงงานไม่ใช่ผลิตตามความต้องการของสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายอาชีวศึกษาไม่อนุญาตให้ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว
…ดังนั้น สังคมไม่ต้องกลัวว่าประเทศไทย จะมีคนจบปริญญามาจนเกร่อ แต่ไม่สามารถพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ เช่น “บัณฑิตวิชาการ”
ผอ.วิศวะ ยังกล่าวอีกว่า การที่ผู้วิพากษ์นำเอาปัญหาความไม่โปร่งใส ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาอื่น มาเปรียบเทียบกับการที่สถาบันการอาชีวศึกษากำลังพัฒนาตนเองนั้น ถือเป็นคนละประเด็นกัน “เราดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว” สถาบันการอาชีวศึกษา ก็ไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ดังนั้นไม่ต้องกังวล
อย่างไรก็ตาม เราน้อมรับคำแนะนำจากทุกฝ่าย แต่ขอให้ศึกษาข้อเท็จจริงด้วย โดยเฉพาะการปรับปรุง พ.ร.บ.อาชีวศึกษาครั้งนี้ เรายึดหลัก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 “มาตรา 36 ให้สถานศึกษาของรัฐ ที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล และอาจจัดเป็นส่วนราชการ หรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ ดำเนินกิจการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหาร และการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้น ๆ” เพราะกฎหมายการอาชีวศึกษา เป็นกรอบให้มีการดำเนินการดังกล่าว
ถึงตรงนี้ ผอ.วิศวะ ยังฝากถึง ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธาน ทปสท.ว่า
“การที่คุณจับประเด็นการขอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.อาชีวศึกษาฉบับใหม่ เกี่ยวกับการเปิดปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกนั้น เหมือนกับที่ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ออกมาให้ข่าวว่า สอศ.จะจัดการเรียนการสอนแค่ปริญญาตรี และเน้นไปที่ระดับ ปวช.และ ปวส. ทำไมถึงได้มีแนวคิดเดียวกัน ทำไมไม่มองให้ไกลออกไป มองภาพอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อถึงตอนนั้นก็ต้องมาแก้ พ.ร.บ.อาชีวศึกษากันอีกหรือ การจะเปิดปริญญาโท-เอกได้นั้น ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ และที่ขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฯ คณะกรรมการก็แก้ไขไปตามที่ สนช.ได้จัดทำร่างมาให้ พร้อมทั้งได้กำหนด Career Path มาให้ด้วย ไม่ทราบว่าได้เห็นกันหรือยัง การจัดการเรียนการสอนของ สอศ. กับของมหาลัย ถ้าดูจาก Career Path แล้ว ก็เห็นจะว่าต่างคนต่างทำ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษาแต่อย่างใด
ในร่าง พ.ร.บ.อาชีวศึกษา ได้กำหนดให้เราจัดการสอนระดับ ปวช., ปวส. และปริญญาตรี สายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ ตาม พ.ร.บ.มาตรา 9ซึ่งไม่เหมือนราชภัฏและราชมงคลอย่างแน่นอน เพราะการที่จะเปิดปริญญาตรีสายปฏิบัติการได้ ก็ต้องมีความต้องการทั้งสองฝ่ายคือ สถานประกอบการและผู้เรียน เพราะเมื่อเรียนจบก็จะมีงานทำได้ทันที
และการบริหารจัดการ ตาม พ.ร.บ.อาชีวศึกษา มีปัญหามันเกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการบังคับใช้ เพราะผู้บริหารระดับสูงหรือ กอศ.ไม่ยอมกระจายอำนาจตามมาตรา10(1) การสั่งการ ไม่สั่งการผ่านสถาบัน ทั้งที่สถานศึกษา เป็นหน่วยงานราชการของสถาบัน ตาม พ.ร.บ.มาตรา17 มีการสั่งการโดยตรงจาก กอศ. ถึงสถานศึกษาเลย ถ้าสั่งการผ่านสถาบันก็จะไม่มีปัญหา และคิดว่า พ.ร.บ.อาชีวศึกษาฉบับนี้ จะพัฒนาวงการอาชีวะได้อย่างดี ไม่ย่ำอยู่กับที่แน่นอน
แต่อย่างไรเสีย เพื่อให้แนวคิดที่คุณหวัง ก็อยากให้มีการเปิดเวทีเสวนา เรื่องปัญหาการจัดอาชีวศึกษาในรูปแบบสถาบัน จะดีไหม เพื่อสังคมจะได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน” ผอ.วิศวะ กล่าวทิ้งท้าย
—————
“…พ.ร.บ.อาชีวศึกษาฉบับนี้
จะพัฒนาวงการอาชีวะ
ได้อย่างดี
ไม่ย่ำอยู่กับที่แน่นอน…”
—————
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ