วารินทร์ พรหมคุณ
โลกยุคปัจจุบัน เป็นยุคของความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สภาพของสังคมก็เช่นกันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะสังคมไทยที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากวัฒนธรรมใหม่ ๆ จากต่างประเทศ ทำให้เยาวชนกล้า แสดงออกมากขึ้น ซึ่งความกล้าแสดงออกนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี และยิ่งหากป็นการแสดงออกในทางที่ดีด้วยแล้วก็น่าชื่นชม ยินดีและให้การสนับสนุน
ในทางกลับกันหากเป็นการแสดงออกในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับสภาพ แบบแผน ประเพณีของไทย อย่างการแสดงความรักกันในที่สาธารณะ ดื้อรั้นไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่งสอนตักเตือนของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงทางพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ดังนั้น ในฐานะของการเป็นคนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ…นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อเยาวชนรับสิ่งที่ผิดต่อค่านิยมของสังคมไทย ขาดศีลธรรมอันดี ซี่งจะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ติดตามมาได้
ที่กล่าวมานี้เป็นถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการสอนศีลธรรมในโรงเรียน” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่นักเรียน นักศึกษา ได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง พร้อมที่จะนำไปประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อความเป็นคนดี เป็นต้นกล้าที่จะเจริญงอกงาม เป็นเยาวชนและเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของประเทศ โดยมี “ครูพระสอนศีลธรรม” เป็นผู้ทำหน้าที่บ่มเพาะต้นกล้าปลูกฝังเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมแก่ต้นกล้าเหล่านั้น
นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า กรมการศาสนา ได้ร่วมมือกับคณะสงฆ์ ริเริ่มโครงการสอนศีลธรรมในโรงเรียน แต่มาระยะหลังกรมการศาสนา ได้โอนงบประมาณให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้ดำเนินการ หาครูพระร่วมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.)
โดยได้งบประมาณในปี 2560 ประมาณ 700 กว่าล้านบาท โดย มจร.ได้รับ 471 ล้านบาท มีครูพระ กว่า18,000 รูป ส่วน มมร.ได้รับ 300 กว่าล้านบาท มีครูพระฯกว่า 10,000 รูป โดยมีโรงเรียนที่ครูพระฯเข้าไปสอนแล้วไม่น้อยกว่า 20,000 โรง มีทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แล้วแต่โรงเรียนจะร้องขอ นับเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนา มีกองทุนเผยแพร่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งมีวิสัยทัศน์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ กรมการศาสนาจึงได้นำงบประมาณส่วนหนึ่งไปสนับสนุน มจร.ในการพัฒนาและเสิรมสร้างศักยภาพให้แก่ครูพระฯ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาหรือการสอนศีลธรรมในโรงเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะมีการสัมมนาในวันที่ 29 พ.ค.2560 นี้
“กระทรวงศึกษาธิการ จะกำหนดหลักสูตรแล้วกรมการศาสนา ก็จะเข้าไปเสริมองค์ความรู้ต่อยอด โดยนำเรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แผนส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ คุณธรรมตามพระราชดำรัส ซึ่งเป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา 4 องค์คุณ คือ ความพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา โดยปีนี้จะขอให้ครูพระเน้นในเรื่อง 4 องค์คุณนี้ เพราะถ้าประชาชนได้คำนึงถึงหลักธรรมทั้ง 4 ตัวนี้ ก็จะเป็นสังคมแห่งความสุข มั่งคั่งและยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล แต่ที่ผ่านมาไม่มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้น จึงจะให้ครูพระฯนำไปเน้นเรื่องนี้กับนักเรียน” อธิบดีกรมการศาสนา กล่าว
พระราชรัตนสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะเขตลาดพร้าว กล่าวว่า จริง ๆ แล้วพระสงฆ์อยากเข้าไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโรงเรียนทั้งการสอนศีลธรรม วิชาสังคม และประวัติศาสตร์ หรือทุกวิชาที่พระมีความรู้ บางครั้งก็ต้องขอความร่วมมือจากโรงเรียนให้เปิดโอกาสให้พระเข้าไปสอน แต่ก็ติดที่โรงเรียนไม่มีชั่วโมงให้ ทำให้พระสงฆ์เสียโอกาสในการทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ขณะที่เด็กก็เสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากครูพระฯ
“ในฐานะที่อาตมาเป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ในเขตลาดพร้าว บึงกุ่ม ได้ให้นโยบายไปว่า ทุกวัดในเขตจะต้องเข้าไปสอนศีลธรรมในโรงเรียน เพราะตอนนี้มีนโยบายว่าจะให้นักเรียนสอบธรรมศึกษา เพื่อให้เข้าใจพุทธศาสนามากขึ้น และที่ผ่านมาโรงเรียนในเขตนี้ก็สอบได้อันดับที่สองของประเทศด้วย” พระราชรัตนสุนทร กล่าว
ด้าน พระครูสิริวีราภรณ์ กล่าวว่า เดิมเรื่องการสอนศีลธรรม เป็นหน้าที่ของครูในหมวดสังคมศึกษา เพราะสมัยนั้นกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีนโยบายให้พระเข้าไปสอนในโรงเรียน ซึ่งบางเนื้อหาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาครูผู้สอนอาจมีความเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง ทำให้นักเรียนรู้สึกเบื่อในการเรียน
ที่หนักไปกว่านั้นคือ ครูบางคนสอนวิชาอะไรไม่ได้ ก็ให้มาสอนวิชาศีลธรรม ผลเสียจึงตกไปที่เด็ก แต่ก็มีบางโรงเรียนได้นิมนต์พระสงฆ์เข้าไปสอนธรรมะเพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งก็ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ต่อมาเมื่อมีนโยบายให้พระสงฆ์เข้าไปสอนในวิชาพระพุทธศาสนา และจัดเป็นเงินนิตยภัต หรือเป็นเงินค่าตอบแทนให้ แต่ก็ยังไม่เข้าที่เข้าทางเพราะสอนไม่ต่อเนื่อง บางรูปติดกิจนิมนต์ก็ให้พระรูปอื่นไปสอนแทน
ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของพระสงฆ์โดยตรงจึงหารือกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา จึงเป็นที่มาของการจัดสรรงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง เป็นผู้จัดอบรมครูพระฯที่จะเข้ามาสอนในโรงเรียน
โดยรูปไหนจะเข้าไปสอนในโรงเรียนต้องเข้ารับการอบรมและต้องขึ้นทะเบียน และถ้าโรงเรียนใดต้องการครูพระฯไปสอนก็ต้องขอมายังมหาวิทยาลัยฯทั้ง 2 แห่งนี้ และหากโรงเรียนใดมีครูพระฯอยู่แล้วก็ต้องมาขึ้นทะเบียนด้วย เพื่อความสะดวกในการจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการตรวจสอบและประเมินผลด้วย
หวังว่าการกลับมาของโครงการสอนศีลธรรมในโรงเรียนครั้งนี้คงไม่ใช่แค่การปัดฝุ่น หรือคืนชีพให้แก่ครูพระ ก็คงต้องฝากไปถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ในการสนับสนุนโครงการดี ๆ เพื่อบ่มเพาะคนพันธุ์ดี มีศีล มีธรรม ให้แก่สังคมไทย…
ยิ่งยุคเทคโนโลยี ดิจิทัล ประเทศไทย 4.0 ยิ่งต้องการคนดีมีศีลธรรม…
———————
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ