คุรุสภาชี้แจงมีความจำเป็น! แต่”ครู”ต้องสมัครใจและไม่กระทบคุณภาพ นร.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค(คปภ.) เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาเรื่องการยกเว้นการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ศึกษานิเทศก์” เพื่อรองรับการจัดบุคลากรลงกรอบอัตรากำลังในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการเกลี่ยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) กำหนด เปลี่ยนตำแหน่งมาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการรองรับการจัดบุคลากร ลงกรอบอัตรากำลังในสำนักงาน ศธจ. ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานของสำนักงาน ศธจ.ในระยะเริ่มแรก
ทั้งนี้ จากมติดังกล่าวสำนักบูรณาการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้มีบันทึกข้อความซึ่งลงนามโดย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. ไปถึงเลขาธิการคุรุสภา ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา นำเสนอต่อคณะกรรมการคุรุสภา พิจารณาให้ข้าราชการครูฯ ผู้ดำรงตำแหน่ง “ครู” ที่ได้รับการพิจารณาเกลี่ยไปดำรงตำแหน่ง “ศึกษานิเทศก์” ในสำนักงาน ศธจ. และยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ได้ โดยยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ตามระยะเวลาที่คุรุสภากำหนด ซึ่งหลังจาก คปภ. มีมติ และมีหนังสือไปถึงเลขาธิการคุรุสภา ให้ดำเนินการดังกล่าว ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นธรรมในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ที่ยกเว้นให้บุคลากรอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ มาดำรงตำแหน่งนี้ได้ อาจเป็นการเล่นพรรค เล่นพวก ไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติตามที่เคยปฏิบัติมาด้วยความยากลำบาก แต่เป็นการดำเนินการตามอำเภอใจ
ล่าสุด ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า มติ คปภ.ออกมาเช่นนี้ เนื่องจากศึกษานิเทศก์ มีความจำเป็นในสำนักงาน ศธจ. จึงมีการขอรับโอนศึกษานิเทศก์จากเขตพื้นที่การศึกษา โดยให้แจ้งความประสงค์ด้วยความสมัครใจไม่บังคับ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้เปิดโอกาสให้ครู ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์เข้ามาได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วครูที่จบปริญญาโททางการศึกษา สาขาใดก็ได้สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้เลย เพียงแต่ครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู อย่างไรก็ตามการที่ครูไม่ได้ขอใบอนุญาตฯ ศึกษานิเทศก์ไว้ เพราะระยะแรกส่วนใหญ่ไม่คิดอยากเป็นศึกษานิเทศก์
“ช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ คปภ.คิดว่าถ้าจะให้มีศึกษานิเทศก์ ในสำนักงาน ศธจ.เพียงพอ ต้องให้คุรุสภาผ่อนผันให้ข้าราชการครู มาปฏิบัติหน้าที่ก่อนในระยะแรก ซึ่งไม่ใช่การยกเว้น ทั้งนี้จะนำเข้าประชุมบอร์ดคุรุสภา ในวันที่ 15 พ.ค.60 ซึ่งเรื่องนี้หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะประธาน คปภ.ให้ข้อคิดไว้ว่าใครจะมาเป็นศึกษานิเทศก์ ในสำนักงาน ศธจ. ต้องดูหน่วยงานต้นสังกัดขาดแคลนครูหรือไม่ ต้องพิจารณาก่อนจะโอนให้ ศธจ. ไม่ใช่ว่าสมัครใจมาแล้วจะมาได้ทันที หรือถ้าโรงเรียนมีครูเกินอยู่แล้ว ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก”ดร.สมศักดิ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ