“พิษณุ”ลงนามระเบียบ สกสค.ตั้งคณะกรรมการจัดสวัสดิการ แก้ปัญหาหนี้สิน-พัฒนาคุณภาพชีวิตครู
วันที่ 1 พ.ค.60 ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในระเบียบ สกสค.ว่าด้วยการจัดสวัสดิการ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครู และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกการฌาปณกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) – การฌาปณกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) พ.ศ.2560
สำหรับรายละเอียดในระเบียบดังกล่าว เบื้องต้นกำหนดให้มี คณะกรรมการจัดสวัสดิการ และคณะกรรมการจัดสวัสดิการจังหวัดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส. โดยการจัดสวัสดิการตามระเบียบนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิต ของสมาชิกช.พ.ค.และ ช.พ.ส. โดยมีเลขาธิการ สกสค.เป็นประธาน รองเลขาธิการที่รับผิดชอบหรือได้รับมอบหมาย เป็นรองประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน ซึ่งแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการเงินและบัญชีและด้านอื่น ๆ ผอ.สกสค.จังหวัด 3คน เป็นกรรมการ และ ผอ.สำนักกิจการกองทุนช.พ.ค.-ช.พ.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ
“คณะกรรมการจัดสวัสดิการ มีอำนาจหน้าที่โดยหลักคือ จัดสวัสดิการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ นโยบายของสกสค. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ แนวปฏิบัติ ประกาศหรือคู่มือสำหรับการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการตามระเบียบนี้ให้ความเห็นชอบ อนุมัติหรืออนุญาตให้ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการตามระเบียบนี้ จารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนอื่นใดที่เกี่ยวกับการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการตามระเบียบนี้ ดำเนินการติดตามหนี้ และจัดการหนี้ค้างชำระที่เกิดจากการจัดสวัสดิการตามระเบียบนี้ เป็นต้น” ดร.พิษณุ กล่าวและว่า ให้สำนักงาน สกสค.ดำเนินการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการจัดสวัสดิการ ภายใน 90วัน นับแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้
ดร.พิษณุ ยังกล่าวถึงที่มาของเงินในการจัดสวัสดิการ ประกอบด้วย
1.เงินลงทุนจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.
2.เงินลงทุนจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ส.
3.เงินสนับสนุนหรืองเงินบริจาคที่มีผู้อุทิศให้
4.ดอกผลหรือรายได้จากทรัพย์สินของการจัดสวัสดิการตามระเบียบนี้ และเงินรายได้อื่น
ทั้งนี้ การออกระเบียบ สกสค.ดังกล่าว เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่ครบวงจร ซึ่งผู้บังคับบัญชา ต้นสังกัด และครอบครัวผู้กู้จะต้องมาร่วมรับรู้ โดยจะเปิดโอกาสให้ครูที่มีหนี้สินจากแหล่งต่างๆ มากู้เงินจาก สกสค.และสถาบันการเงินที่เข้าร่วม เพื่อนำไปใช้หนี้จากแหล่งอื่น เป็นการรวมหนี้ไว้ที่แหล่งกู้เดียว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาหนี้วิกฤติ ถูกฟ้องร้อง หรือกำลังจะถูกฟ้องร้อง ได้เข้ารับการพิจารณาก่อน จากนั้นจะพิจารณาผู้กู้ในกลุ่มวิกฤติรองลงมาตามลำดับ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ