“จากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยพะเยา ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาจึงต้องพัฒนาและจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และในโลกอนาคตเรามองว่า การเรียนเพียงด้านใดด้านหนึ่งอาจไม่เพียงพอ ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการคนที่มีทักษะในหลายๆ ด้าน ดังนั้น การพัฒนานิสิตให้มีความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน การเปิดหลักสูตรการเรียนควบคู่ 2 ปริญญา จะทำให้ผู้เรียนได้เปรียบในเรื่องโอกาสได้งานทำมากขึ้น”
…นี่คือแนวนโยบายของ ศาสตราจารย์พิเศษ มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) ต่อการเปิดหลักสูตรการเรียนควบคู่ 2 ปริญญา
นิสิต ม.พะเยา ที่เลือกเรียนควบคู่ 2 ปริญญาจะใช้เวลาเรียน 5 ปี โดยวิชาศึกษาทั่วไป จะเรียนเหมือนกันหมด ส่วนวิชาหลักของแต่ละปริญญาก็ต้องเรียนให้ครบตามโครงสร้างหลักสูตรของทั้ง 2 ปริญญา อาทิ ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วทบ.คณิตศาสตร์) คู่กับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศบ.) นิสิตที่จบออกมาหากสอบบรรจุครู ก็จะเป็นครูที่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ในระดับที่เข้มข้น เท่ากับคนที่เรียนวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์เลยทีเดียว
ด้าน รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวเสริมว่า ม.พะเยา จัดการเรียนการสอนควบคู่ 2 ปริญญาด้วยกันทั้งหมด 19 คู่ ส่วนใหญ่จะเป็นการจับคู่ศาสตร์ด้านครู อาทิ วทบ.( คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา) คู่กับ กศบ. ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก นอกจากนี้ก็ยังมีปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ และสาขาวิชาภาษาไทย ควบกับ กศบ. และคู่ของบัญชีบัณฑิต ควบกับนิติศาสตร์บัณฑิตด้วย อย่างไรก็ตาม เรากำลังพัฒนาดิจิทัล อินโนเวชั่น สอดแทรกเข้าไปในหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ โดยเริ่มที่วิชาศึกษาทั่วไปผ่านระบบออนไลน์ให้นิสิตได้มีทางเลือกเพิ่ม และกำลังพัฒนารายวิชาอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้นิสิตของเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
“ขณะนี้มีนิสิตจบไป 2 รุ่นแล้ว แม้ว่าจะเรียนหนักกว่าการเรียนเพียงปริญญาเดียว เพราะต้องเก็บหน่วยกิตให้ครบทั้ง 2 หลักสูตร แต่ก็ถือว่าคุ้มกับการทุ่มเท เพราะได้ปริญญา 2 ใบ และข้อดีตรงที่ใช้งบฯ และเวลาเรียนน้อยกว่า หากต้องเรียนปริญญาตรีทีละปริญญา ส่วนอนาคตจะจัดหลักสูตรควบ 2 ปริญญาเพิ่มในคู่อื่นๆ อีกหรือไม่ต้องดูตลาดความต้องการของแรงงานก่อน” รศ.ดร.สุภกร กล่าว
ด้านผู้เรียนหลักสูตรควบคู่ 2 ปริญญา อย่าง “ยุวเรศ งามทรง” ซึ่งเลือกเรียน วทบ.คณิศาสตร์ คู่กับการศึกษาบัณฑิต บอกว่า การเรียนแบบนี้ถือว่าได้เปรียบคนอื่น โดยเฉพาะการสอบเข้าบรรจุครู ซึ่งสอบได้บรรจุเป็นครูในโครงการครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จ.แพร่ ไม่เสียใจเลยที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้ โชคดีที่มาเรียนที่นี่เพราะได้เพื่อนดีทุกคนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยิ่งเรียนหนักก็ยิ่งช่วยเหลือกันใครเก่งวิชาไหนก็มาช่วยติวเพื่อน เหมือนกับยิ่งให้ยิ่งได้ เราไม่ได้เรียนคนเดียว เราต่างคนต่างช่วยกันเรียน ไม่แข่งกับใคร แข่งกับตัวเอง มีอะไรก็แบ่งปันกัน
“โยธิน ใจอ่อน” อีกหนึ่งนิสิตในหลักสูตรควบ 2 ปริญญา ปัจจุบันเป็นครูสอนที่โรงเรียนลาดปลาเค้าพิทยาคม กทม. เสริมว่า การเรียนหลักสูตรนี้แม้จะเรียนค่อนข้างหนัก แต่ผลที่ได้รับกลับมามันคุ้มค่ามากและใช้เวลาน้อยกว่า งบฯในการเรียนก็ใช้น้อยกว่าหากเปรียบเทียบกับการเรียนทีละปริญญาให้ได้ถึง 2 ใบ
“ผมจบมาเกรด 3.8 กว่า ทั้ง 2 ปริญญา ถ้าเราตั้งใจผมว่าทุกคนก็ทำได้ การเรียนควบคู่ 2 ปริญญานอกจากได้เปรียบโดยเฉพาะในการนำไปสอบบรรจุครูแล้ว ถ้าไม่ต้องการเป็นครูก็สามารถนำปริญญา วทบ.ไปสมัครงานตามบริษัทเอกชนได้เช่นกัน ทำให้เรามีโอกาสได้เลือกในหลายๆทาง การเรียนแบบควบ 2 ปริญญาแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเก่งก็ได้ แต่ต้องมีความตั้งใจและใจต้องสู้” โยธิน กล่าวทิ้งท้าย
—————
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ