วารินทร์ พรหมคุณ
เปิดเสรีตำราเรียน…มือใครยาวสาวได้สาวเอา
พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 64 บัญญัติไว้ว่า “รัฐ” ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์อื่นวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่นโดยเร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิต และมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ โดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
และหลักการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนในการผลิตสื่อการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยแนวปฏิบัติในการส่งหนังสือเรียน จะต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา(สวก.) เป็นผู้ตรวจก่อนว่า เนื้อหาของหนังสือตรงตามมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551หรือไม่
…”ปกหน้า” จะต้องตรงตามรูปแบบของ สพฐ. กำหนด “ปกหลัง” เป็นใบอนุญาตที่ลงนามโดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)โดยใบอนุญาตได้กำหนดให้ใช้คราวละ 5 ปี
การห่ำหั่นตำราเรียนเอกชน
…การเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีนั้น เป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ แต่ถ้ามองลึกลงไปจะพบว่ามีการแข่งขันในตลาดหนังสือเรียนสูงมาก เพราะจำนวนเงินในจุดนี้นับเป็นหมื่น ๆ ล้านบาท ดังนั้น จึงเข้าสุภาษิตที่ว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ใครมีกลยุทธ์เหนือกว่าคู่แข่งก็ต้องงัดออกมา เพื่อเป็นจุดขายของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า…จะรอดพ้นสายตาคู่แข่งได้เช่นกัน เพราะต่างก็มีกลยุทธ์ในการขายที่ไม่แพ้กัน
ดังที่มีข่าวให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีสำนักพิมพ์เอกชนรายหนึ่ง ใช้กลยุทธ์ทางการค้าโดยผลิกวิกฤติเป็นโอกาส นำเรื่องการปรับปรุงแก้ไขหนังสือเรียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านรัชกาลใหม่ ของ สพฐ.ในหมวดวิชาสังคมศึกษา ซึ่ง สพฐ.เองได้มีหนังสือขอให้ทุกสำนักพิมพ์แก้ไขเฉพาะเนื้อหาในเล่มเท่านั้น หากสำนักพิมพ์ไหนแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ก็ขอให้จัดส่งต้นฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วมาให้ สพฐ.ตรวจทานความถูกต้องอีกครั้ง
…แต่ปรากฏว่าหน้าปกหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดและรายวิชาพื้นฐาน ของสำนักพิมพ์เอกชนรายนั้น ทำผิดกติกา!!! ใช้กลยุทธ์การขายไม่ตรงกับต้นฉบับที่ สพฐ.อนุญาตให้จัดพิมพ์
คือนำข้อความที่ สพฐ.อนุญาตว่ามีการแก้ไขแล้วมาขึ้นหน้าปกหนังสือ เพื่อให้โรงเรียนมีความมั่นใจว่าได้รับหนังสือที่แก้ไขถูกต้องแล้ว จึงเป็นสาเหตุให้สำนักพิมพ์อื่นๆ ร้องเรียนมายังกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ขอให้สำนักพิมพ์รายนี้ “ลบข้อความ” บนหน้าปกหนังสือที่มีข้อความคล้ายกับการโฆษณาว่าได้มีการปรับปรุงเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกสำนักพิมพ์ ได้มีการแก้ไขเช่นกันแต่ไม่ได้นำขึ้นปกโฆษณา
เรื่องนี้หากมองมุมที่ว่าสำนักพิมพ์เอกชนดังกล่าว ได้กระทำผิดสำเร็จแล้วหรือยัง เข้าข่ายปลอมแปลงเอกสารหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ สพฐ.ต้องไปคิดต่อว่าหากเกิดการร้องเรียน ซ้ำว่า สพฐ.ไม่ดำเนินการใด ๆ จะเข้าข่ายรู้เห็นเป็นใจหรือไม่…แม้ว่าสำนักพิมพ์เอกชนดังกล่าว จะยอมแก้ไขหน้าปกหนังสือแล้วก็ตาม
อาณาจักรองค์การค้า สกสค.
ถ้าพูดถึงหนังสือเรียนเสรี ต้องมีชื่อของ”องค์การค้า”เข้ามาพัวพัน เดิมที “องค์การค้า” อยู่ภายใต้การกำกับของคุรุสภา ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีภารกิจการผลิต จำหน่าย และพัฒนาหนังสือ สื่อการเรียนการสอน ตรงตามหลักสูตรของ ศธ.รวมทั้งเป็นกลไกของ ศธ. ในการรักษาระดับราคาที่เป็นธรรมของหนังสือเรียนและสื่อการสอน
…อดีตที่ผ่านมา “องค์การค้า” ได้ยึดมั่นในภารกิจดังกล่าวลุล่วงดีตลอดมา ทั้งที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนการดำเนินงานจากรัฐบาล หรือหน่วยงานใด แต่สามารถทำกำไรได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และส่งมอบให้ “คุรุสภา” เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของคุรุสภา และจัดสรรอีกส่วนให้กับหน่วยงานในสังกัด ศธ. ควบคู่กันตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อเกิด พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 83 กำหนดให้โอนองค์การค้าของคุรุสภา ไปเป็นของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) และกำหนดให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์การค้า ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และมีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันอย่างเสรีได้
“องค์การค้าของ สกสค.” ยังคงดำรงวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของ ศธ.ในเรื่องหนังสือ สื่อการสอน วัสดุอุปกรณ์การศึกษา และเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเช่นเดิม
ปัจจุบันมีร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ 9 สาขา มีร้านเก่าแก่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน มีร้านค้าตัวแทนกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการจำหน่ายสินค้าทางการศึกษาและสินค้าอื่น อีกทั้งยังมีโรงพิมพ์องค์การค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ถนนลาดพร้าว ผลิตหนังสือเรียนสื่อการเรียนการสอน และรับจ้างพิมพ์งานทั่วไปและข้อสอบ รวมทั้งมีโรงงานผลิตอุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ผลิตเครื่องแบบ เครื่องใช้นักเรียน ครุภัณฑ์ทางการศึกษา เครื่องจักรและวัสดุทางการพิมพ์
การฉ้อฉลในแดนสนธยา
การสาธยายถึงองค์การค้า…องค์กรที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพยากรและอำนาจภายใต้การกำกับของรัฐ ความได้เปรียบในการแข่งขันสื่อเสรี ย่อมมีมากกว่า แต่ทว่ากลับมีแต่หนี้สินมากกว่า 5,000 ล้านบาท มีการทุจริตฉ้อฉลในการบริหารงาน…
วันที่ 23 ก.ย.2558 รัฐบาล คสช. มีหนังสือด่วนมากที่ คสช.(คตร.)/1292 แจ้งผลตรวจสอบฯ อนุมัติให้หน่วยงานของรัฐ โดยสรุปได้ว่า 1.ให้ สกสค.สอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับผู้บริหาร ที่บริหารงานผิดพลาด ตลอดการเช่าซื้อเครื่องจักรพิมพ์ที่จ่ายค่าเช่าแพงเกินไป และการต่อสัญญาออกไปอีก
2 ปี ทำให้องค์การค้า เสียผลประโยชน์ 2.การเช่าเครื่องจักรพิมพ์ ให้ดำเนินการจนสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 3 ก.พ.2559
และ 3.ให้ ศธ.ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขสภาพคล่อง อาจมอบให้องค์การค้าเป็นผู้จัดพิมพ์ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมถึงการจัดส่งให้กับโรงเรียนต่างๆ โดย ศธ.สนับสนุนงบฯ ที่รัฐอุดหนุนให้กับองค์การค้าโดยตรง
…ซึ่งอาจหมายความว่าองค์การค้าได้ลิขสิทธิ์การพิมพ์ และจำหน่ายหนังสือ ใน 3 กลุ่มสาระ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้มีอำนาจใน ศธ.จะสั่งการให้ สพฐ.สั่งโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ ซื้อหนังสือเรียน 4 กลุ่มสาระหลักจากองค์การค้า ตามข้อเสนอของคณะทำงานแก้ไขปัญหาในองค์การค้าโดยจะด้วยอาศัยอำนาจตามคำสั่ง หรือกฎหมายฉบับใดก็ตามที แต่จะเชื่อได้อย่างไรว่า องค์การค้าจะนำเงินที่ขายหนังสือเรียน ซึ่งว่ากันว่าเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท มาเยียวยาปัญหาขาดทุนทุกบาททุกสตางค์ จะไม่มีการโกงโดยตั้ง “นายหน้า” หรือผู้ประสานการขายมารับเงินเปอร์เซ็นต์การขาย หรือไปจ้างวานโรงพิมพ์ภายนอก มารับงานแล้วรีดเงินใต้โต๊ะเหมือนที่เคยทำ
นี่เป็นแค่ตัวอย่างของความสูญเสียที่เกิดจากปัญหาการทุจริตบนเส้นทางขององค์การค้าที่มีมาตลอด
หายนะซ้ำซ้อน
เงื่อนปมทุจริตที่รัดแน่นจะแก้อย่างไร…ผ่านมาหลายมือยังทำอะไรไม่ได้ ยิ่งล่าสุด คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (บอร์ด สสวท.) มีมติให้เปิดเสรีการผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือเรียนและสื่อหลักอื่นๆ ของ สสวท. เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
จากเดิมที่ สสวท.ลงนามบันทึกความร่วมมือกับองค์การค้า ในการให้สิทธิ์องค์การค้าเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือเรียนและสื่อหลักอื่น ๆ ของ สสวท. ซึ่งมีการทำสัญญากันมากว่า 30 ปีแล้ว…โดยสัญญาล่าสุดมีผลผูกพัน 2 หน่วยงานเป็นเวลา 5 ปี จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 17 มิ.ย.2561
ในข้อตกลงดังกล่าว ยังกำหนดว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะขอยกเลิกบันทึกข้อตกลงนี้ ก่อนกำหนดต้องมีหนังสือแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า ก่อนวันบันทึกข้อตกลงนี้จะสิ้นสุดไม่น้อยกว่า1 ปี ดังนั้นการที่ บอร์ด สสวท. มีมตินี้ออกมาก็เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญา…ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 ปี
ถ้าเป็นจริงองค์การค้าจะต้องสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า1,000ล้านบาท…นี่เป็นเพียงข้อมูลคร่าว ๆ ที่ยกตัวอย่างมาให้เห็นเท่านั้น งานนี้ “พิษณุ ตุลสุข” ว่าที่ ผอ.สกสค.คนใหม่ จะเข้าไปแก้ปัญหากันอย่างไรต้อง“จับตามอง”
ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ย้ำเสมอถึงจุดยืนที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ใครทำอะไรไม่ถูกต้องก็ต้องกลับไปแก้ไขให้ถูกต้อง
โดยในกรณีขององค์การค้า นั้นได้ให้นโยบายในมติบอร์ดองค์การค้าให้ไปทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เพราะตอนนี้ทุกคนก็ทราบว่าสถานะขององค์การค้า เป็นอย่างไร ถ้าจะมีการดำเนินธุรกิจต่อไปก็ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ ว่าจะดำเนินธุรกิจเรื่องอะไร แบบไหน ถึงจะอยู่รอด เพราะเท่าที่ไปดูไปเห็นมานั้นโรงพิมพ์องค์การค้าเก่าเกิน 20 ปีแล้ว จะมีความสามารถในการแข่งขันกับสำนักพิมพ์เอกชนได้หรือไม่
ในยุคตำราเรียนเสรีที่ต้องฟาดฟันแข่งขันกันนี้ องค์การค้ายังมีโอกาส ค่อนข้างมาก ซึ่งผู้เขียนมองว่าหากมีการกำหนดภารกิจขององค์การค้าให้ชัดเจน ในอนาคตจะทำหน้าที่อะไร เช่น งานการพิมพ์แบบเรียนต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อทดแทนมาตรการผูกขาด โดยอาจจะขอเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพียงผู้เดียว ในรายวิชาประวัติศาสตร์ หรือสังคมศึกษา เป็นต้น ส่วนรายวิชาอื่นๆ ก็ให้เป็นไปในลักษณะการค้าเสรี!!!
————————
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ