เสริมนวัตกรรมลดเหลื่อมล้ำทุกพื้นที่…การศึกษาระบบทวิภาคีแนวทางอาชีวะ4.0
“…ความสำคัญของการศึกษา คือ การสร้างผู้สำเร็จการศึกษาให้มีความสามารถที่จะทำงานให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข…”
ส่วนหนึ่งของปณิธานจาก “ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล” ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์
สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลกำลังเล็งเห็นความสำคัญของการอาชีวศึกษา ด้วยการผลักดันให้วิทยาลัยต่างๆ ช่วยผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ พยายามส่งเสริมให้มีค่าตอบแทนที่มากเพียงพอ อันจะเป็นแรงจูงใจให้ได้คนดีมีคุณภาพมาอยู่ในตลาดแรงงาน ควบคู่ไปกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0
“ณรงค์ศักดิ์ ภูมิศรีสอาด” ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า การจะเดินหน้าไปตามแนวทางประเทศไทย4.0นั้นในภาคอาชีวศึกษาจะต้องสร้างคนเพื่อสร้างนวัตกรรมให้ได้โดยเริ่มจากการมีระบบการศึกษาแบบทวิภาคีที่ดีและมีความเข้มแข็ง การกระจายความรู้ไปสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศด้วยเทคโนโลยี และการให้โอกาสทางการศึกษาแก้ผู้ด้อยโอกาสอันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในทุกพื้นที่โดยต้องการันตีได้ว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทำในบ้านเกิดหรือพื้นที่ที่ผู้เรียนต้องการ
การศึกษาในระบบทวิภาคี คือใช้เวลากับการเรียนภาคทฤษฎีครึ่งหนึ่ง และใช้เวลากับการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง เรียนรู้ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาจริงๆ อีกครึ่งหนึ่ง
สำหรับวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์นั้น มีศูนย์การเรียนทั่วทุกภาคในประเทศไทยครอบคลุม จำนวน 20 แห่ง โดยมีจุดแข็งคือสถานประกอบการที่ผู้เรียนสามารถไปฝึกปฏิบัติงานได้จริง 9,700 กว่าแห่งทั่วประเทศ และในเดือน มิ.ย.60 นี้ จะมีสถานประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 แห่งทั่วประเทศ
ผอ.ณรงค์ศักดิ์ บอกด้วยว่า ผู้เรียนที่เข้ารับการศึกษาระบบทวิภาคีนี้จะไม่มีเวลาไปสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ไม่มีเวลาไปติดเกม ติดยาเสพติด หรือทะเลาะวิวาทกับใคร เพราะต้องแบ่งเวลาเรียนภาคทฤษฎี และไปฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ โดยการฝึกประสบการณ์นั้นจะมีค่าตอบแทนให้ผู้เรียนด้วยอย่างต่ำเดือนละ 6-7 พันบาท ทำให้ผู้เรียนรู้จักคุณค่าของเงิน นำเงินไปช่วยจุนเจือครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
การส่งเสริมผู้เรียนให้ช่วยกันสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใช้งานได้จริงก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้เรียนสามารถสร้างเครื่องมือเปลี่ยนราคาสินค้าบนชั้นวางมาใช้ลดต้นทุน และระยะเวลาในการทำงานจนจดสิทธิบัตรไปใช้ในสถานประกอบการทั่วประเทศได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมรางวัลเหรียญทองการประกวดระดับประเทศอีกหลายโครงงาน อาทิ การสร้างอักษรเบรลล์ช่วยผู้พิการทางสายตาเลือกหาสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากทุกภาคส่วนจำนวนมาก
เรื่องการมอบโอกาสทางการศึกษาที่ผ่านมา วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์และสถาบันเครือข่าย มีการมอบทุนการศึกษาให้แก่ผู้เรียนไปแล้ว 27,000 คน เราให้ความสำคัญกับผู้เรียนทุกคนทั่วประเทศทุกศาสนา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และชุมชนที่มีชาวมุสลิมรวมตัวอยู่กันเป็นส่วนใหญ่ เรามีสถานประกอบการที่เปิดจำหน่ายสินค้าและเปิดรับการฝึกงานให้ผู้เรียนที่เป็นชาวมุสลิม จำนวน 34 แห่งทั่วประเทศ
“สำหรับเรื่องการมีอาชีพหลังศึกษาจบนั้น วิทยาลัยสามารถการันตีให้ได้อย่างแน่นอน ผู้ที่เรียนจบ ปวช.และ ปวส.ทุกคนสามารถดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการร้านในสถานประกอบการของเราได้ทันที หากผู้เรียนต่อยอดไปถึงระดับปริญญาตรีตามหลักสูตรของสถาบันได้ เมื่อจบออกมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขา ที่สำคัญหากผู้เรียนเป็นลูกหม้อเรียนที่สถาบันตั้งแต่ ระดับ ปวช.จนจบปริญญาตรี สามารถใช้สิทธิพิเศษเป็นเจ้าของสถานประกอบการได้ ด้วยเงินร่วมหุ้นเพียง 150,000 บาท ต่างจากคนทั่วไปที่ต้องใช้เงินถึง 3,000,000 บาท ขณะนี้มีอดีตผู้เรียนที่เป็นลูกหม้อของทางสถาบันเป็นเจ้าของกิจการไปแล้ว ประมาณ 10 กว่ารายทั่วประเทศ” ผอ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ