จากกรณีที่ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวในการมอบนโยบายการรับนักเรียน นักศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และการเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวะ รวมถึงผู้เรียนโครงการทวิศึกษา โดยจะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ให้มีการปรับลดจำนวนห้องเรียนระดับ ม.ปลาย ของโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีอัตราการแข่งขันสูงให้เหลือ 5 ห้องเรียนนั้น
นายกำจัด คงหนู ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) นนทบุรี เขต 1 กล่าวว่า การตัดสินในทางวิชาการที่เป็นส่วนได้ส่วนเสียของเด็กนั้น ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอและต้องคิดถึงอนาคต การตัดสินใจเชิงนโยบายโดยผู้มีอำนาจย่อมมีความเสี่ยงสูง ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการศึกษาได้
สำหรับตนนั้นให้ความร่วมมือกับ สอศ.ในการให้ครูอาชีวะเข้าไปแนะแนวในโรงเรียนมัธยมศึกษามาโดยตลอด แต่บางครั้งก็ติดปัญหาที่วิทยาลัยบางแห่งมีข้อจำกัดในการรับนักเรียน โดยเฉพาะวิทยาลัยเทคนิคที่มีอัตราการแข่งขันสูงไม่สามารถรับนักเรียนได้ทั้งหมด ซึ่งต้องดูจุดนี้ด้วยว่าวิทยาลัยเหล่านี้มีความพร้อมหรือยัง ที่จะรับนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนในสาขาที่เป็นความต้องของพวกเขา รวมถึงเรื่องค่านิยมของผู้ปกครองด้วย ไม่ใช่อะไร ๆ ก็โยนความผิดให้ สพฐ.
ด้าน ดร.สุปราณี ไกรวัตนุสสรณ์ ผอ.โรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า การลดจำนวนห้องเรียนไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะการตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีพหรือสายสามัญขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวเด็กและผู้ปกครอง ซ่ึงหากจะมีการให้ปรับลดห้องเรียนก็คงต้องดูบริบทอื่นประกอบไปด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ