ศธ.เร่งแจ้งเกิด “สถาบันคุรุพัฒนา” แจกคูปองให้ครูลงคอร์สอบรมตนเอง นับชั่วโมงสอน-นำแอคทีฟเลิร์นนิ่ง เชื่อมโยงขอมีวิทยฐานะ
วันที่ 13 มี.ค.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าได้มีการหารือถึงการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งเป็นสำนักภายในของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาและจัดอบรมครูในสังกัด สพฐ.โดยจะมีการจัดทำคอร์สการอบรมครูในรูปแบบใหม่ นอกจากนี้หากมีหลักสูตรที่ผู้อื่นจัด ถ้าคิดว่าจัดได้ดีก็สามารถนำมาให้สถาบันคุรุพัฒนาให้การรับรองหลักสูตรได้ เพื่อให้ครูสามารถที่จะเลือกช้อปคอร์สอบรมตามที่ครูต้องการ
ซึ่งทางสถาบันคุรุพัฒนา จะช่วยให้คำแนะนำครูว่าจะพัฒนาคอร์สไหน ถึงจะเชื่อมโยงกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ โดยขณะนี้ สพฐ.มีงบพัฒนาครูอยู่แล้วประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อปี แต่ที่ผ่านมาให้แบบกระจัดกระจาย ซึ่งหลังจากนี้จะจัดเป็นคูปองให้กับครูเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง โดยคูปองดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี ทั้งนี้เหตุผลที่ต้องมีการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนาขึ้นมา ก็เพื่อทำให้มีผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและอบรมครูอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตนจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ในวันที่ 15 มี.ค.60 นี้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เมื่อสถาบันคุรุพัฒนาจัดทำคอร์สในการอบรมครูขึ้นมา ครูจะเลือกเองว่าจะอบรมคอร์สไหน ที่จะนำไปขอวิทยฐานะได้ โดยครูจะต้องมีพอร์ตฟอลิโอ และล็อคบุ๊ค หรือสมุดบันทึกผลเพื่อบันทึกชั่วโมงการสอนรวมทั้งการอบรม หรือเป็นการรวมกลุ่มเพื่อจัดการความรู้และแชร์ประสบการณ์ในระบบ PLC หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักฐานในการขอวิทยฐานะได้ ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำลังคิดการนับชั่วโมงการอบรมพัฒนาว่าอบรมคอร์สไหน กี่ชั่วโมงถึงจะได้วิทยฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เป็นต้น
ทั้งนี้ หลังจากมีการจัดทำคอร์สอบรมเสร็จเรียบร้อย ก็จะเริ่มทันที และให้เริ่มขอวิทยฐานะในรูปแบบใหม่ได้หลังจากที่ชะลอมานาน ส่วนผู้ที่ค้างท่ออยู่ ก็จะให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยจะมีการนำรูปแบบเก่าและใหม่มาผสมผสานกัน แต่จะยกเลิกการพิจารณาผลงานทางวิชาการ
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9ทรงมีพระราชหัตถเลขา เมื่อวันที่ 5ก.ค.2555 ว่า ปัญหาปัจจุบันของครู คือครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้น ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ดังนั้นในวันที่ 5ก.ค.2560 นี้ ผมจะยกเลิกระบบการทำผลงานทางวิชาการ ที่เป็นกระดาษอย่างเป็นทางการ แต่จะให้นับชั่วโมงการสอน การอบรม การทำ PLC และแอคทีฟเลิร์นนิ่งมาใช้แทน” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ