“หมอธี” ยันไม่ยุบเขตพื้นทีฯ ขอให้ช่วยปฏิรูปการศึกษา ยกระดับ รร.ไอซียู และเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง เด็กอยากเรียนรู้-ครูตั้งใจสอน ชี้สอดคล้องเกณฑ์ใหม่ขอมีวิทยฐานะ-ดูแฟ้มงาน-มีชั่วโมงสอน
วันที่ 28 ก.พ.60 ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พร้อมมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานตอนหนึ่งว่า ก่อนอื่นต้องชี้แจงว่า การเรียกประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อแจ้งคำสั่งมาตรา 44 ยุบเขตพื้นที่การศึกษา แต่อย่างใดเพราะไม่คิดจะปรับโครงสร้างใหญ่ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในตอนนี้
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เพื่อแจ้งทิศทางการปฏิรูปการศึกษาที่สังคมอยากเห็น เพราะประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ เมื่อปี 2542 และเข้าร่วมสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) เมื่อปี 2543 แต่ที่ผ่านมากว่า 16 ปี คะแนน PISA ของไทยไม่ได้ขยับเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าวิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมต้องเร่งยกระดับโรงเรียนไอซียู และการปฏิรูปการศึกษาต้องเป็นแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ที่เด็กอยากเรียนรู้ตลอดเวลาและครูต้องตั้งใจสอน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ต่อจากนี้จะมีการพัฒนาครูครบวงจรโดยเชื่อมโยงกับวิทยฐานะ ซึ่งตนได้ยกเลิกหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) เนื่องจากได้ศึกษากฎหมายของ ก.ค.ศ.พบว่าไม่มีข้อใดกำหนดให้ครูต้องทำผลงานทางวิชาการ แต่สิ่งที่กำหนดไว้ คือให้ดูเรื่องการอบรมพัฒนา คุณภาพการสอน
ดังนั้นเกณฑ์ PA จึงไม่สอดคล้องกับวิทยฐานะ โดยเกณฑ์ใหม่จะดูจากชั่วโมงการทำงานของครู มีกรอบคือเป็นครูผู้ช่วย 2 ปี ชำนาญการ 5 ปี ชำนาญการพิเศษ 5 ปี เชี่ยวชาญ 5 ปี และเชี่ยวชาญพิเศษ 5 ปี การจะเสนอขอเลื่อนวิทยฐานะในแต่ละขั้น ครูต้องมีชั่วโมงสอน 800 ชั่วโมงต่อปี พร้อมกับคอร์สอบรมพัฒนาที่ได้รับรองมาตรฐานตามระดับวิทยฐานะ และชั่วโมงการเรียนการสอนแบบ Professional Learning Community (PLC) โดยครูจะต้องมีแฟ้มผลงานของตัวเอง และให้ ผอ.โรงเรียน เป็นผู้รับรอง และจะใช้วิธีสุ่มตรวจ หากพบว่าชั่วโมงการสอนไม่ครบ มีการแจ้งข้อมูลเท็จ ก็จะปรับให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ และแจ้งดำเนินคดีต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
“งบฯ ที่ใช้ในการพัฒนาครูเท่าที่ดูขณะนี้มีประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่มีการใช้แบบกระจัดกระจาย ต่อไปผมจะใช้เป็นระบบคูปอง โดยให้คูปองกับครู 10,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเลือกไปเข้าคอร์สพัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับการเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งปัจจุบันเรามีครู 400,000 คน จะใช้งบฯ เพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ประหยัดได้มาก ทั้งนี้จะเร่งจัดทำเกณฑ์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้นำเกณฑ์ใหม่มาใช้ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ต้องมีบทเฉพาะกาล สำหรับผู้ที่ยื่นเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่าด้วย”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ