พล.อ.อ.ประจิน ฝากงานพัฒนาช่างซ่อมอากาศยานในระยะยาว ต้องการบุคลากรมากถึง 4,000 คน
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พิจารณา และมีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (โรดแมป) พ.ศ.2560-2564 เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะกำลังคน ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาประเทศตามมาตรฐานอาเซียนและสากล ให้สอดคล้องรองรับยุคประเทศไทย 4.0 และทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต
โดยวางเป้าหมายปี 2560 เร่งปรับหลักสูตรและเกณฑ์การพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับ NQF ปี 2561-2562 พัฒนาฐานข้อมูลตามหลักการ NQF และได้หลักสูตรใหม่ ตามแนวทาง NQF ปี 2563 พัฒนาระบบประกันคุณภาพ และภายในปี 2564 ทุกหลักสูตรเป็นไปตาม NQF สร้างให้กำลังคนมีสมรรถนะตามมาตรฐานสากล
เลขาธิการ กกศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังเห็นชอบการปรับระดับ NQF เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ 8ระดับ เริ่มตั้งแต่ชั้น ม.ต้น ต่อเนื่องไปจนถึงระดับปริญญาเอก เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง และสามารถเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ได้อย่างสะดวก และหลีกเลี่ยงความสับสน เป็นไปตามเงื่อนไขสมาชิกคณะทำงาน AQRF ทั้ง 9ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาเซียน (AEC) โดยประเทศไทยเป็นชาตินำร่องการเทียบเคียง NQF กับ AQRF เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ พล.อ.อ.ประจิน เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และเหล่าทัพ สร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน และเร่งจัดทำแผนการพัฒนาจำนวนช่างซ่อมบำรุงอากาศยานทุกประเภท ในระยะยาว (ปี 2560-2567) ตั้งเป้าผลิตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานให้ได้มากถึง 4,000 คน ภายในปี 2567 โดยเร่งจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการวางกรอบดำเนินการอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องงบฯ หลักสูตร การพัฒนาครู และครุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี
“ที่ประชุมได้คัดเลือกสาขาอาชีพ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในการพัฒนาแรงงานที่สอดคล้องความต้องการกำลังคน ของประเทศใน 10 อุตสาหกรรม จำแนกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ที่มีศักยภาพ (First S-curve) จำนวน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) จำนวน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร ซึ่งได้ตั้งเป้าผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศอย่างสอดคล้องกันทั้งระบบ”ดร.กมล กล่าว
/
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ