ไทยปรับปรุงใหม่หลักสูตรผลิตครูต้องมีสมรรถนะเป็นเลิศ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการคุรุสภา และจัดทำร่างมาตรฐานอ้างอิงวิชาชีพครูอาเซียน ว่าที่ประชุมหารือเรื่องการจัดทำร่างมาตรฐานอ้างอิงวิชาชีพครูอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมเกี่ยวกับการจัดทำร่างมาตรฐานฯ ดังกล่าว ร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน ในเดือน เม.ย.60 นี้
อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบกรอบแนวคิดให้ คณะกรรมการคุรุสภา เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกับวิเคราะห์ กรอบมาตรฐานวิชาชีพครูของไทย ซึ่งมีมากถึง 11 มาตรฐาน ประกอบด้วย ความเป็นครู, ปรัชญาการศึกษา, ภาษาและวัฒนธรรม, จิตวิทยาสำหรับครู, หลักสูตร, การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน, การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้, นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา, การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้, การประกันคุณภาพการศึกษา และคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ โดยขอให้พิจารณาร่วมกันว่า มาตรฐานฯ ของไทยมีมากเกินไปหรือไม่ และสามารถวัดทักษะการสอน ซึ่งเป็นสมรรถนะที่สำคัญครูได้มากน้อยแค่ไหน รวมให้ไปดูบริบทของไทยว่า จะทำอย่างไรให้มาตรฐานวิชาชีพครูของเรา มีความสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครูของอาเซียน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อมีความชัดเจน เรื่องกรอบมาตรฐานวิชาชีพครูทั้งของไทย และของประเทศอาเซียน แล้ว จะนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่จะต้องให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครู โดยอาจจะต้องดูรายละเอียด ว่าแต่ละแห่งมีกิจกรรมจิตอาสาให้นักศึกษาทำงานน้อยแค่ไหน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มาร่วมประชุม เพื่อทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่จะต้องตรงกับบริบทของแต่ละแห่ง ไม่ใช่ตัดเสื้อชุดเดียวเหมือนกันหมด เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตครูที่มีสมรรถนะในการสอนที่ได้มาตรฐาน สอบแบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ไม่ใช่สอนแบบพูดหน้าชั้นเพียงอย่างเดียว รวมถึงต้องมีคุณลักษณะที่ดี มีความใส่ใจเด็ก มีจิตวิญญาณความเป็นครู
“ในอนาคตแนวโน้มในการผลิตครูจะมีการปรับเปลี่ยนไปหลายอย่าง ซึ่ง ศธ.ได้ดำเนินการมาตลอด ตั้งแต่สมัย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็น รมว.ศึกษาธิการ ได้ส่งคณะทำงานลงมาศึกษาข้อมูล เพื่อปรับหลักสูตรการผลิตครู โดยรัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนว่า สถาบันผลิตครูต้องผลิตครูที่จบการศึกษาออกมาแล้วทำงานได้ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และมีสมรรถนะที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผลิตออกมาแล้วทำอะไรไม่เป็นเลย”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ