มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ-จัดประชาพิจารณ์ 4ภาค
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกศ.กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ.2560-2564 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แผนยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เป็นการสร้างความพร้อมในการเรียนรู้และเชื่อมโยงการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals เป้าหมายที่ 4) ที่มี 7 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมการดำเนินงานด้านพัฒนาเด็กปฐมวัย
ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ข้อ ประกอบด้วย 1 การจัดและการให้เด็กเข้าถึงบริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย เน้นให้เด็กทุกคนได้รับบริการอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมืองและพื้นที่ห่างไกล 2 การพัฒนาการเป็นพ่อเป็นแม่ การอบรมเลี้ยงดู และบทบาทของครอบครัว เน้นปรับบทบาทของการเป็นพ่อแม่ที่ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูลูกเท่านั้น 3 การพัฒนาคุณภาพการให้ บริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย
4 การจัดระบบข้อมูลและตัวชี้วัด เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาเด็กปฐมวัย 5 การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย และการดำเนินการตามกฎหมาย เน้นการบังคับใช้กฎหมาย การบัญญัติและปรับปรุงกฎหมาย 6 การศึกษา การจัดการความรู้ และการเผยแพร่องค์ความรู้ และ 7 การเสริมสร้างประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ การติดตามงานและประเมินผล และการสร้างเครือข่ายการประสานงานการทำงานร่วมกัน เน้นการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกลไกต่าง ๆ บูรณาการนำสู่การขับเคลื่อนงานที่เป็นรูปธรรม
“แนวทางขับเคลื่อนจะเน้นบูรณาการความเข้าใจแนวทางการดำเนินการระหว่างกระทรวงหลัก เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสามารถนำสู่การปฏิบัติได้ โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.60 สกศ.ได้ส่งนักวิชาการลงพื้นที่ 4 ภูมิภาค และประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และเร่งสรุปสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ( ก.พ.ป.) พิจารณาอีกครั้ง” ดร.กมล กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ