เกลี่ยอัตรากำลัง 5 องค์กรรองรับ ศธภ.-รอง ศธภ.24ตำแหน่ง
วันที่ 11 ม.ค.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยกำหนดให้มี อ.ก.พ.กระทรวงเพียงคณะเดียว และให้มีการเกลี่ยอัตรากำลังใน ศธ.เพื่อกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งเป็นศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และรอง ศธภ.เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารของ ศธ.เกิดประสิทธิภาพนั้น เนื่องจากศธ.เป็นกระทรวงเดียวที่แปลกไม่เหมือนใคร
คำสั่งดังกล่าวจึงออกมาเพื่อทำให้การทำงานง่ายขึ้น และการบริหารงานก็คล่องตัวขึ้น เพราะคำสั่ง ม.44 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ให้ผู้ตรวจราชการศธ.ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค แต่ผู้ตรวจฯ ทุกคนก็มีภาระมากอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องให้คนมาดูงานศึกษาธิการภาคเต็มตัว เพราะฉะนั้นคำสั่งนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อหักใคร แต่เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษามีผลในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าต้องมีคนบ่น เพราะไม่ว่าอะไรก็คงไม่ถูกใจใครทั้ง 100% แต่ก็ต้องทำเพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้นและไม่ได้เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า สิ่งที่ ศธ.ต้องดำเนินการหลังจากนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือการรวม อ.ก.พ.ทั้ง 5 คณะขององค์กรหลักเป็น อ.ก.พ.กระทรวงเพียงคณะเดียว ซึ่ง ศธ.จะต้องไปทำความตกลงกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เกี่ยวกับรายละเอียดของการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย จำนวนไม่เกิน 3 คน และกรรมการที่แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนที่ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูงใน ศธ.จำนวนไม่เกิน 5 คน เนื่องจากสัดส่วนและคุณสมบัติของ อ.ก.พ.กระทรวงศึกษาธิการ ไม่เหมือนกับกระทรวงอื่น
“นอกจากนี้จะสอบถามไปยังทุกองค์กรหลักว่า มีเรื่องใดที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ อ.ก.พ.ทั้ง 5 คณะ เพื่อ อ.ก.พ.กระทรวงชุดใหม่ จะได้สานต่อ และมีการตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานใดก่อนหน้านี้หรือไม่ ในเรื่องใดบ้าง จะได้แจ้งให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศ ทั้งนี้ ในวาระเริ่มแรก อ.ก.พ.กระทรวงชุดใหม่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ระหว่างนี้ให้ดำเนินการหารือ ก.พ. และเร่งสรรหากรรมการให้ครบองค์ประกอบภายใน 90 วัน”
ปลัด.ศธ. กล่าวและว่า ส่วนการให้ ศธ.มี ศธภ.จำนวน 12 ตำแหน่ง โดยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง และมี รอง ศธภ. 12 ตำแหน่ง เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับต้นนั้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นการเพิ่มตำแหน่งระดับ 10 และ 9 ขึ้นมาจำนวนถึง 24 ตำแหน่ง โดย ศธ.จะต้องไปเกลี่ยอัตรากำลังภายใน ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการหารือกับองค์กรหลักในเบื้องต้นแล้ว โดยจะมีการเกลี่ยอัตราจากทั้ง 5 องค์กรหลัก จำนวนกว่า 50 อัตรา แบ่งเป็นข้าราชการพลเรือน 25 อัตราและข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกกว่า 30 อัตรา ซึ่งทุกอัตราจะเป็นตำแหน่งว่างที่ไม่มีคนครองอยู่
อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 18 ม.ค.60
ทั้งนี้ จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อตัดโอนอัตรา และเสนอไปยัง ก.พ.เพื่อขอกำหนดตำแหน่งต่อไป ซึ่งคาดว่า ก.พ.น่าจะเห็นชอบกำหนดตำแหน่งได้ภายในเดือน ก.พ.60 นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ อ.ก.พ.กระทรวงน่าจะครบองค์ประกอบ
และมีการตั้งคณะอนุกรรมการสรรหา เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ศธภ. และรอง ศธภ.ทั้ง 24 ตำแหน่ง ได้ภายในเดือน เม.ย.60 นี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ