วารินทร์ พรหมคุณ
มองอนาคต สกสค. ผ่าน”พิษณุ ตุลสุข”
…ฟื้นฟูความเชื่อมั่น
สร้างศรัทธาองค์กรต่อครู
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยแยกตัวออกจาก “สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา” เพื่อดูแลเรื่องสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่ครูและบุคลาการทางการศึกษาพึงจะได้รับ ซึ่งในปี 2548 สมัยที่นายอดิศัย โพธารามิก เป็น รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครู จึงมอบให้ สกสค.ริเริ่มโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ขึ้น โดยประเดิมโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.รุ่นที่ 1 ทำร่วมกับธนาคารกรุงไทย แต่พอขึ้นโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.รุ่นที่ 2 สกสค.กลับย้ายมาทำสัญญาร่วมกับธนาคารออมสิน..จนถึงปัจจุบัน
ย้อนไปดูเจตนาของการทำโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.นี้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะ สกสค.มีหน้าที่จัดสวัสดิการและสวัสดิภาพให้กับครู ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ สกสค.จะเป็นผู้หาสถาบันการเงินดอกเบี้ยต่ำ มาจัดสวัสดิการให้ครู เพื่อจะได้นำเงินไปชำระหนี้สินที่มีอยู่เดิมได้ เพราะครูสามารถกู้เงินได้ตั้งแต่ 600,000-3,000,000 ล้านบาท ถ้าครูมีวินัยในการใช้จ่ายที่ถูกต้องและยึดหลักของความพอเพียง ซึ่งธนาคารออมสิน คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าผู้กู้ปกติทั่วไป หากครูมีวินัยทางด้านการเงิน ไม่ไปมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถอยู่ได้อย่างสบาย เพราะออมสิน ให้เวลาชำระเงินคืนแบบระยะยาวถึง30ปี นอกจากนี้ทางธนาคารออมสิน ยังให้ค่าบริหารจัดการให้อีกด้วย
แต่ทว่าเวลาที่ผ่านมาหนี้สินครูกลับไม่ลดลง…มีครูกู้เงิน ช.พ.ค.รุ่นแล้วรุ่นเล่า
ซ้ำร้ายกลับมีความวุ่นวายเกิดขึ้นใน สกสค. มีการทุจริตนำเงินดอกผลจาก ช.พ.ค.ไปลงทุนผิดวัตถุประสงค์ และมีการหมกเม็ดในหลายโครงการ
ดังที่เป็นประเด็นข่าวใหญ่โตปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ หลังจากที่ ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 20/22 วันที่ 15 มกราคม 2558 แจ้งผลการวินิจฉัย ส่งถึงนายสมคิด หอมเนตร สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผู้ร้องเรียน) เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในสำนักงาน สกสค.และองค์การค้าของ สกสค. ที่อาจจะไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ พบว่าข้อร้องเรียนดังกล่าวมีมูล ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงใช้อำนาจตามมาตรา 32 และ 34 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 ประกอบกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (เฉพาะ) ที่ 24/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 69/2557 จัดทำข้อเสนอแนะถึง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา) และในฐานะ รมว.ศึกษาธิการ ขณะนั้น
โดยขอให้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้บริหารระดับสูง สกสค. และองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ในที่สุดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. 2 ฉบับ ลงประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเษก วันที่ 17 เมษายน 2558 ให้เลขาธิการสำนักงานสกสค. เลขาธิการคุรุสภา และ ผอ.องค์การค้าของ สกสค.พ้นจากตำแหน่ง
และมีคำสั่งแต่งตั้ง นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มาปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงาน สกสค.แทน…เพื่อสะสางปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยภาระหน้าที่มีมาก เพราะต้องดูกฎหมายครูในฐานะ “เลขาธิการ ก.ค.ศ.” ทำให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี อดีต รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาแต่งตั้งให้ “ดร.พิษณุ ตุลสุข” รองปลัด ศธ. มาปฏิบัติหน้าที่ “เลขาธิการ สกสค.” พ่วงอีกตำแหน่งแทน เพราะเห็นว่ามีความรู้และประสบการณ์จากการเป็นผู้แทนครูมาก่อนน่าจะเห็นปัญหาใน สกสค.อย่างชัดแจ้ง
…สำนักงาน สกสค.ถูกผลัดมือจากผู้บริหารมาถึง “ดร.พิษณุ” ในวันนี้ก็นับว่าถูกคนแล้ว ที่จะมาฟื้นฟูความน่าเชื่อถือและศรัทธากลับคืนมา
ดร.พิษณุ เผยว่างานสำคัญที่ได้รับมอบหมายไว้คือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความศรัทธาต่อองค์กรของเพื่อนครูทั่วประเทศ และที่สำคัญคือความศรัทธาต่อองค์กรครู จะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีและเหมาะสมกับวิชาชีพครู ที่เป็นที่พึ่งของผู้ปกครองและประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อเข้ามาสิ่งแรกที่ต้องทำคือดูว่าอะไรที่เป็นตัวถ่วงหรือสิ่งที่ทำลายความเชื่อมั่นทำให้องค์กรที่ครูคาดหวังไม่ได้เป็นไปตามอย่างที่สังคมหรือครูต้องการ
“ผมมาตรวจสอบวิเคราะห์ดูแล้ว เรื่องที่ต้องทำให้เร็วที่สุดคือ การนำเงินของครูกลับคืนมาให้ครู ไม่ว่าจะไปลงทุนโดยมิชอบ หรือในการทำสัญญาไว้โดยการเอื้อประโยชน์ให้กับใครก็ตาม ก็ต้องพยายามนำเงินก้อนนั้นกลับคืนมา เพราะเป็นเงินของครู เพื่อจะได้นำไปใช้ในสิ่งที่จะสร้างและเติมเต็มให้เกิดคุณภาพชีวิตให้กับครูและการพัฒนาอาชีพครูในโอกาสต่อไป ต่อมาคือการวิเคราะห์ปัญหาภายในขององค์กรว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโอกาสในการที่ทำให้มีการทุจริต หรือร่วมมือในการที่จะฉ่อโกงหรือทำลายซึ่งผลประโยชน์ที่ครูจะได้รับอย่างเต็มที่เกิดจากอะไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นกระบวนการภายใน”
ดร.พิษณุ กล่าวต่อไปว่า เรื่องระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ออกมาก็ต้องทำ แม้กระทั่ง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นกำเนิดของ สกสค.ก็ต้องนำมาวิเคราะห์แก้ปัญหาในส่วนที่เป็นระเบียบกฎหมาย โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา เหมือน พ.ร.บ.ที่จัดตั้งสำนักงาน สกสค.ให้มีหน้าที่ดูแลเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูและบุคลากร ในทุกสังกัดทั่วประเทศเป็นการเฉพาะ โดยให้แยกออกมาจาก พ.ร.บ.ที่จะว่าด้วยองค์การค้า หรือบทบาทใหม่ พ.ร.บ.ที่ว่าด้วยสำนักงานคุรุสภา ที่จะดูเรื่องวิชาชีพ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นแม่บทซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเสนอ พ.ร.บ.ของรัฐบาล
“พ.ร.บ.ฉบับนี้จะว่าด้วย 3 ส่วน คือ คุรุสภา สกสค.และองค์การค้า ซึ่งแยกเป็น 3 ฉบับ ตัวแม่บทนั้นรอขั้นตอนเสนอกฎหมายโดยรัฐบาล แต่ระหว่างนี้จะมีคณะทำงานไปศึกษาข้อบังคับและระเบียบที่ออกไปแล้วและมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขัดต่อกฎหมายสภาครูฯ ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน หรือระเบียบขัดกับข้อบังคับทำให้งานเกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบและเชิงทางการทุจริตได้ง่าย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการสังคายนา”
ขณะที่การพัฒนาบุคลากร ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ดร.พิษณุ กล่าวย้ำว่า องค์กรจะมีคุณภาพได้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนที่มีคุณภาพ ดังนั้น สกสค.จึงดำเนินการเตรียมจัดทัพ ส่วนหัวก่อน โดยตั้งใจจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน โดยจะคัดจากพนักงานที่มีอยู่เดิม หรือรับจากภายนอกเข้ามาเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนในส่วนกลาง ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็เตรียมโครงการที่จะพัฒนาคุณลักษณะการทำงานจะต้องเข้าใจกฎหมาย ต้องแม่นกฎหมาย อาจทำหลักสูตรขึ้นมาร่วมกับสำนักงานคุรุสภา ทำงานร่วมกัน รวมถึงการการคัดเลือก ผอ.สกสค.จังหวัด ด้วย
“ตำแหน่ง ผอ.สกสค.จังหวัด คือตำแหน่งที่ต้องพบปะกับคนในพื้นที่ ดังนั้นหากสร้างความเชื่อมั่นได้ ก็จะไม่ทำให้ส่วนกลางเสียหายไปด้วย เมื่อรับมาแล้วจะต้องมีการทดลองปฏิบัติงาน 6 เดือนถึง 1 ปี ถ้าไม่ผ่านก็เลิกจ้าง ซึ่งจะไม่มีสัญญาผูกมัดว่าจะจ้างครบ 4 ปี ซึ่งได้มีนโยบายไว้แล้ว รวมถึงการขจัดกระบวนการซื้อตำแหน่งด้วย สัญญา4ปี ตามระเบียบเหมือนเดิม แต่จะมีการทดลองงาน หรือมีพฤติกรรมไม่ผ่านก็เลิกจ้าง ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือเมื่อ ผอ.สกสค.ได้รับการคัดเลือกมาแล้ว จะต้องมีการอบรมเตรียมเข้าสู่ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเรื่องการเงิน บัญชี ชำระหนี้ การเก็บเงินค่าบำรุงระเบียบ เป็นต้น”
สำหรับเรื่องนี้ไม่พูดถึงไม่ได้ “โครงการ ช.พ.ค.7” จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่
ดร.พิษณุ ให้คำตอบว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานมาวิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างครบวงจร เพราะหากเราไม่แก้ปัญหาอย่างครบวงจร ก็จะเป็นการเพิ่มหนี้สินครูเข้าไปอีก อยู่ระหว่างการดำเนินการจะเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอาจเป็นโครงการใหม่ ที่จะมาบริหารหนี้สินครูที่วิกฤติหรือกำลังจมน้ำ โดยจะช่วยเหลือคนเหล่านี้ก่อน โดยให้ครูสมัครเข้ามา หลักการคือครูต้องรายงานรายละเอียดสภาพหนี้สินที่มีอยู่ให้ฟังให้หมด เพื่อให้สถาบันการเงินได้รับทราบด้วยว่า เมื่อคุณเข้ามาอยู่ในการดูแลของ สกสค.ตามโครงการใหม่นี้แล้ว จะไม่มีสิทธิไปกู้เงินที่ไหนอีก โดยจะต้องทำความร่วมมือกันว่า สกสค.จะรับหนี้สินครูมาเป็นหนี้ของ สกสค. แต่ครูก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย นอกจากนี้ก็จะมีมาตรการที่ดูแลในส่วนที่สร้างสินทรัพย์ที่เกิดจากปัญญาของครูเองหรือความคิด เพื่อให้มีวิถีชีวิตที่เป็นอยู่อย่างพอเพียง จะต้องมีการคำนวณระยะในการใช้หนี้ด้วยว่า จะใช้หนี้หมดด้วยวิธีไหน อย่างไร เมื่อไร
“เงินทุนที่ สกสค.มีอยู่นั้นก็ไม่น้อย เพียงแต่เงินไปอยู่ที่อื่น ถ้าเราได้เงินของเรามา อาจจะนำมาบริหารจัดการเอง หรือหากมีสถาบันการเงินอื่นที่สนใจ พร้อมที่จะมาร่วมลงมือทำด้วยกันอีกส่วนหนึ่งก็เป็นไปได้ ข้อดีของการบริหารเอง คือดอกเบี้ยของครูก็จะต่ำลง ขณะเดียวกันสิ่งที่หวังมาก คือส่วนต่างที่นำมาบริหารจัดการ ซึ่งมีจำนวน เป็น 1,000 ล้าน ถ้าเรานำเงินส่วนนี้เพียง 25 สตางค์ จะสามารถนำไปพัฒนากองทุนอื่น ๆ ได้ เช่น ส่งครูไปอบรม หรือเรียนรู้เพื่อเพิ่มรายได้ของตัวเอง”ดร.พิษณุ กล่าวทิ้งท้าย
…งานนี้ต้องดูกันยาวๆ ว่า ผู้ปฏิบัติหน้าเลขาธิการสำนักงาน สกสค.คนใหม่ จะสามารถจัดการปัญหาหนี้สินครู ที่เรื้อรังมานานกว่า 20-30 ปีได้อย่างไร
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ