อาชีวะของรัฐเปิดรับรอบเดียว-แบ่งเค้กเอกชน
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยถึงแผนการรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ปีการศึกษา2560 ว่าเนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน รับเด็กได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะวิทยาลัยของรัฐมีการเปิดรับหลายรอบ และรับจำนวนมากเกินกว่าที่ประกาศรับ จึงได้มีการเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) แก้ไขปัญหา ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ ตนจะประชุมร่วมกับคณะทำงานเตรียมการรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการไปให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) และคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด(อศจ.) ประชุมร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐ และเอกชนในพื้นที่ รวมถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อวางแผนการรับนักเรียน ให้เป็นภาพรวมของจังหวัด
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นจะกำหนดให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ เปิดรับเพียงรอบเดียว ขณะเดียวกัน สอศ.จะหามาตรการสร้างแรงจูงใจให้เด็กสนใจเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น โดยจะจัดหาทุนการศึกษา และมาตรการรับรองคุณภาพการจัดการเรียนสอน เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้เรียนว่าจบแล้วมีงานทำและมีรายได้ระหว่างเรียน เพิ่มโครงการทวิภาคี อีกทั้งจะมีการทำความตกลงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้วิทยาลัยอาชีวศึกษา เข้าไปแนะแนวการเรียนต่อแก่นักเรียนมัธยมศึกษา และจะมีการหารือถึงการปรับแผนการรับนักเรียนของ สพฐ. และ สอศ. รวมถึงการจัดการศึกษารูปแบบทวิวุฒิด้วย เนื่องจากตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด คือ ในปีการศึกษา 2560 จะต้องปรับสัดส่วนการรับเด็กสายสามัญต่อสายอาชีพ ให้ได้ 50:50 แต่อาจเป็นไปได้ยาก ซึ่งตนจะหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ ก่อน อย่างไรก็ตาม จะพยายามรักษาจำนวนการรับเด็กเข้าเรียนอาชีวะไม่ให้น้อยกว่าเดิม คือ 62 ต่อ 38
“ผมได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ทั้ง 9 แห่ง เพื่อปรับหลักสูตรภายในระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง จากที่ต้องเรียน 3 ปี ให้ลดลงเหลือ 2ปี ซึ่งนักศึกษาที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากอาชีวศึกษาสามารถเรียนต่อปริญญาต่อเนื่องได้ทันที”
ดร.สุเทพ กล่าวและว่า ที่สำคัญ สอศ.จะต้องคุมการรับนักเรียน นักศึกษาในภาพรวมให้ได้ เพื่อให้อาชีวศึกษาเอกชนอยู่ได้ด้วย และต้องให้ กศจ.วางแผนการรับนักเรียนในระดับพื้นที่ด้วย และจะรับนักเรียนพร้อมกับ สพฐ.เพื่อให้เด็กตัดสินใจว่าจะไปเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ