วารินทร์ พรหมคุณ
พลเมืองไทยกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้พลวัตของโลกในศตวรรษที่ 21
ตามยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ นอกจากเรื่องการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาในทุกจังหวัด การพัฒนาวิชาชีพครู หลักสูตรคุณภาพ ตลอกจนกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทาง 3R-8C ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางโลกในศตวรรษที่ 21 แล้ว ยังมีเรื่องสำคัญที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน การสร้างสังคมแห่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ในบริบทของสังคมไทย
โดย ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ได้สะท้อนความคิดในมิติดังกล่าวว่า
“…เรื่องของการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย รวมทั้งการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง จากเดิมซึ่งแม้เราจะทำอยู่แล้ว แต่ก็ทำในมุมที่แคบนั่นก็คือ “การศึกษานอกระบบ” ซึ่งเดิมหมายถึง คนที่หลุดออกจากระบบปกติ เช่น เรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาไม่จบ ก็สามารถไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน หรือไปเรียนกับหน่วยงานที่จัดการศึกษาในลักษณะของการฝึกอบรม เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือองค์กรที่จัดอบรมต่างๆ
แต่ทว่าในอนาคต คำว่า “การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” จะหมายถึง การที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการศึกษาทั้งในระบบซึ่งมีอยู่แล้วตามปกติ หรือถ้าหลุดออกจากระบบไปก็จะมีการศึกษานอกระบบเข้ามารองรับ สามารถเรียนประถม มัธยม สามารถที่จะต่ออาชีวะ ต่ออุดมศึกษาได้ มีมหาวิทยาลัยเปิด มีวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรพิเศษแล้วก็สามารถที่จะเรียนรู้ตามอัธยาศัยได้ สามารถเรียนรู้จากสื่อจากสถานีโทรทัศน์ วิทยุ จากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ จากองค์กร ซึ่งจัดเป็นรูปของพิพิธภัณฑ์ จัดในรูปของแหล่งเรียนรู้ สนามกีฬา สนามฝึก
โดยหลักการสำคัญก็คือ การจัดการศึกษาไม่ได้เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ เพียงหน่วยงานเดียว แต่จะต้องเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้แก่ทุกคน…“
ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะเห็นได้ชัด คือในอนาคตเราจะมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษา ซึ่งพัฒนามาจากสภาการศึกษาปัจจุบัน แทนที่จะมีผู้แทนจากหน่วยงานซึ่งเป็นหน่วยงานจัดการศึกษาโดยตรงจะมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงไอซีที กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน ประเด็นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ ทุกหน่วยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา เพียงแต่มีการแบ่งกันอย่างชัดเจนว่าหน่วยใด จะดูแลการศึกษาในระดับใด เช่น กระทรวงศึกษาธิการ อาจจะดูแลเด็กในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ขนาดที่กระทรวงแรงงาน ก็ดูแลคนที่อยู่ในวัยแรงงาน หรือการศึกษานอกโรงเรียน ก็อาจจะดูแลคนที่หลุดออกจากระบบ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ มีเรื่องหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง คือการถ่ายโอนบุคคลจากการเรียนสายหนึ่งหรือสาขาหนึ่ง ไปเรียนอีกสาขาหนึ่งหรือจากระบบหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่งได้ โดยมีระบบที่เราเรียกว่าเครดิตแบงค์ การเก็บข้อมูลเครดิต การเรียนเป็นรายบุคคล
ประเด็นต่อมา คือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในประเทศไทย เพราะไม่เคยทำแผนการศึกษาชาติที่มีลักษณะครอบคลุมคนตลอดช่วงชีวิตแบบนี้มาก่อน
“…ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ก็คือการจัดดการศึกษาตลอดช่วงชีวิต เราเรียกว่าทุกช่วงวัย คำว่า “ทุกช่วงวัย” หมายถึงตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ไม่ใช่ตั้งแต่อนุบาลจนถึงสูงอายุเท่านั้นคือตั้งแต่วันแรก ที่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ฉะนั้นจะแบ่งออกเป็นประมาณ 5 กลุ่ม…”
ดร.กมล กล่าวอธิบายถึง 5 กลุ่มไว้ดังนี้
กลุ่มแรก คือกลุ่มที่อยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในที่นี้รวมตั้งแต่แรกเกิด คือเมื่อเด็กเกิดมาจนกระทั่งก่อนที่จะเข้าโรงเรียน เป็นเด็กอนุบาลหรือพ่อแม่ต้องดูแล วันนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด แน่นอนคนที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข การให้เงินเด็กเกิดใหม่ การมีศูนย์อนามัย ที่ดูแลเด็กการดูแลเรื่องวัคซีน การดูแลเด็กให้มีความรู้ พูดได้ ดูแลตัวเองเป็น พวกนี้ก็เป็นเรื่องการพัฒนาในช่วงแรก
ช่วงที่สอง ต่อไปเมื่อเด็กเข้าสู่โรงเรียนระบบการศึกษาปกติ ซึ่งก็จะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพ เด็กจะเรียนอนุบาล เรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาไปถึงระดับอุดมศึกษา อันนี้เป็นการศึกษาโดยภาพรวมซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพหลัก แต่ว่าไม่ใช่เฉพาะเท่านั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ ก็ต้องเข้ามาดูแลด้วย วันนี้มีเรื่องใหม่ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ กระทรวงไอซีที ต้องเข้ามาวางระบบเครือข่ายสารสนเทศ ให้เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถได้เรียนรู้ทัดเทียมกับเด็กที่อยู่ในเมือง
ช่วงที่สาม เป็นช่วงที่เป็นวัยแรงงาน คนที่เป็นวัยแรงงานจะมีสองลักษณะคู่กันก็ คือวัยแรงงานที่จะต้องไปฝึกงานเพิ่มเติม เช่น เมื่อไปทำงานก็ต้องไปอบรมตามสาขา หรือตามกฎระเบียบของสถานประกอบการที่ไปทำงานระบบนี้ จะเข้ามาช่วยจัดการเพื่อให้วัยแรงงานมีความศักยภาพ มีสมรรถนะเพิ่มขึ้น ค่าตอบแทนหรือเงินเดือนก็จะเพิ่มขึ้น คุณวุฒิวิชาชีพก็จะมีมากขึ้น
” ขณะที่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะเรียกว่ากลุ่มที่สี่ ก็ได้คือกลุ่มที่หลุดออกจากระบบปกติของสถานศึกษา คือถ้าเป็นแรงงาน ก็เป็นแรงงานขั้นต่ำ จบแค่ ป.4 หรือ ป.6 หรือจบมัธยมต้น กลุ่มคนที่อยู่นอกระบบนี้ เราจำเป็นจะต้องให้การศึกษา ซึ่งหมายถึงต้องให้ทั้งการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ต่างระดับชั้น และให้การศึกษาเพื่อที่จะสามารถทำงานได้ด้วย” ดร.กมล กล่าว
สำหรับกลุ่มที่ห้า คือกลุ่มที่สูงอายุ ในอดีตเราจะมองว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ก็คือคนที่เมื่อเกษียณอายุไปแล้ว อายุ 60-65 ปี ก็ไปอยู่บ้านเฉยๆ มีความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยก็พอแล้ว รู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมก็แค่ให้พอบันเทิง เล่นดนตรีอะไรหรือทำกิจกรรมศิลปะเพื่อความเพลิดเพลิน แต่คนเหล่านี้ยังเป็นแรงงานของประเทศได้ เขาสามารถที่จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล ถ้าเราให้เขาไปเป็นผู้ประกอบการ จะเห็นได้ว่ามีธุรกิจหลายอย่างของต่างประเทศพวกธุรกิจ ไอศกรีม อาหารฟาสฟู๊ดต่างๆห ลายบริษัทหลายยี่ห้อเป็นการผลิตขึ้นโดยมีบุคคลที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น แล้วก็กลายเป็นสินค้าระดับโลกได้
ภายใต้พลวัตของโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ “การศึกษา” ไม่ได้ถูกตีกรอบด้วยอายุ หรืออยู่ในรั้วสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว หากแต่การส่งเสริมให้เกิดระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นเข้ากับประชากรในทุกช่วงวัย และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อนั้น “การศึกษา” ก็จะกลายเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากประเทศกำลังพัฒนา ตามนโยบายของรัฐบาลได้นั่นเอง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ