วารินทร์ พรหมคุณ
คลี่ยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ความท้าทายภายใต้พลวัตของโลกศตวรรษที่ 21
ทันทีที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายหลักให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศกำลังพัฒนาก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามอย่างประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์และมาเลเซีย
ในมิติของ “การศึกษา” ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมียุทธศาสตร์การศึกษาชาติ อันเป็นกรอบการพัฒนาระยะยาว ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐ ซึ่งแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่มีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำหน้าที่เป็นเสาหลัก นั้นได้วางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของไทยไว้อย่างมีนัยสำคัญหลายประการ วันนี้ข่าวการศึกษา “สยามรัฐ” มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ สกศ. เพื่อคลี่ยุทธศาสตร์การศึกษาของไทย ภายใต้ธรรมนูญการศึกษาฉบับใหม่ที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปีหน้า…
โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ คือเรื่องของการจัดการข้อมูลสารสนเทศ ซึ่ง ดร.กมล กล่าวว่า
“…การบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารการจัดการการศึกษา โดยรวมแล้วจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก เป็นระบบจัดการข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารโรงเรียน แต่ละโรงเรียนจะมีข้อมูลจำนวนเด็ก จำนวนครูห้องเรียน รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา อีกส่วนหนึ่ง จะเป็นข้อมูลกลางของหน่วยงานระดับกรม หรือระดับสำนักงาน นั่นก็คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับส่วนบริหารการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนโรงเรียน จำนวนครู งบประมาณทางการศึกษา
ข้อมูลทั้งสองส่วนนี้ ถือเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโดยตรง เนื่องจากปัจจุบันเรายังมีจุดอ่อนในเรื่องของข้อมูลสารสนเทศของเด็ก ซึ่งไม่มีตัวเลขเด็กที่แน่นอน ขาดความชัดเจนในกรณีที่เด็กมีการเคลื่อนย้ายหรือออกกลางคัน ฉะนั้นระบบนี้จะเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะทำให้มีรายชื่อ มีรหัสประจำตัวเด็กเป็นรายบุคคลตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเราจะมีระบบข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบฯรายหัวให้กับเด็กและโรงเรียนได้ครบถ้วนและเหมาะสมยิ่งขึ้น…”
ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า นอกจากข้อมูลเด็กแล้ว ก็ยังมีเรื่องสำคัญคือ ข้อมูลครู
“…กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีข้อมูลครูซึ่งหลายพื้นที่ขาดแคลนและในหลายพื้นที่ก็จะมีครูเกิน เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีข้อมูลครูที่ชัดเจน ทั้งการขาดแคลนในสาขาวิชาต่างๆ หรือครูเกินในพื้นที่นั้นๆ ก็สามารถทำให้เราเกลี่ยครูได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ฉะนั้นถ้ากล่าวโดยรวมก็คือในส่วนของระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร จะเน้นไปที่ข้อมูลระดับสถานศึกษา และข้อมูลระดับหน่วยงาน ที่สำคัญก็คือการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ก็นำไปเพื่อการจัดสรรงบฯ และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับสูตรการเรียนการสอน แต่เราก็ถือว่าเป็นเรื่องของระบบข้อมูลสารสนเทศเช่นเดียวกัน นั่นก็คือข้อมูลด้านองค์ความรู้ หรือข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน ก็จะมีการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจะเอาสื่อการเรียนรู้ นำเอาซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามาเพื่อที่จะจัดฐานข้อมูลเป็นรายวิชาทุกระดับชั้น เพื่อให้สถานศึกษาต่างๆ สามารถดึงข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ เพราะฉะนั้นเชื่อว่าโดยภาพรวมถ้ากระทรวงฯ มีการจัดสรรข้อมูล มีกระบวนการจัดการที่เหมาะสม จะทำให้ระบบการศึกษามีคุณภาพการบริหารการจัดการมีประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายซึ่งมีความซ้ำซ้อนหลายส่วนออกไป…”
และตามที่ เลขาธิการ สกศ. กล่าวมานี้จะเห็นว่าธรรมนูญการศึกษาฉบับปี 2560 ยังเน้นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในสถานศึกษาไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการจัดการปัญหาในเรื่องของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในระบบการศึกษาของไทย ซึ่ง ดร.กมล ได้พูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า
“...ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไร เราจะบริหารสถานการศึกษาให้เป็นที่น่าเรียน มีคุณภาพสูง และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ตรงนี้ระบบสำคัญที่เราจะนำมาใช้ คือระบบการโซนนิ่งสถานศึกษา ปัจจุบันนี้เรามีโรงเรียนประมาณ 30,000 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเกือบครึ่งหนึ่ง ก็คือหลัก 10,000 โรงเรียน ในอดีตถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมเ พราะว่าเราจำเป็นจะต้องตั้งโรงเรียนเพื่อให้เด็กๆ ในพื้นที่ต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าสู่สถานศึกษา แต่วันนี้การคมนาคมไปมาง่ายขึ้น เด็กๆ ก็มีจำนวนน้อยลงเพราะการเกิดของประชากรมีน้อย เรามีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ส่งผลให้สูญเสียงบประมาณไป 20-30% ในเรื่องของการต้องดูแลโรงเรียนขนาดเล็กรวมทั้งต้องดูแลครูผู้บริหาร ที่ต้องอยู่ประจำโรงเรียนเหล่านี้
…การทำให้มีโรงเรียนแม่เหล็ก ซึ่งเราเรียกว่า magnet school หรือโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กรอบๆ ปิดตัวลง หรือเรียนแค่บางวัน ที่เหลือเด็กๆ เข้ามาเรียนโรงเรียนหลักที่มีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพมากขึ้น ตรงนี้ ศธ.ได้มีการกำหนดให้เป็นโรงเรียนเกรด A-B-C นั่นก็คือโรงเรียนเกรด C คือโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนที่มีผู้เรียนน้อย การสนับสนุนก็จะมีให้น้อยลง โดยพยายามดึงเด็กมาอยู่โรงเรียนเกรด B ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนประจำตำบล ประจำอำเภอแล้วในที่สุดก็มาพัฒนาเป็นโรงเรียนเกรด A คือโรงเรียนประจำจังหวัด หรือประจำอำเภอใหญ่ๆ ตรงนี้จุดเน้นสำคัญก็คือ เรื่องของคุณภาพทางการศึกษานั่นเอง
ดร.กมล อธิบายต่อถึงประเด็นที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ก็คือ การมีกรรมการสถานศึกษาเข้าไปดูแล และมีกลุ่มประชาสังคม จะมีส่วนสนับสนุนเพื่อทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดเรื่องการบริหารการจัดการสถานศึกษา คงไม่ได้หมายความแต่เชิงบริหารอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการพัฒนาภูมิทัศน์ของโรงเรียน การดูแลเรื่องอาคารสถานที่ การทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อนักเรียนจะได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ชุมชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนในการใช้บริการสถานศึกษาด้วย
อีกประเด็นที่กำลังตื่นตัวกันอย่างมาก คือเรื่องของการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนของตนเองขึ้นมา โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ซึ่งการกระจายอำนาจเพื่อพัฒนานวัตกรรมการบริหารสถานศึกษา เป็นเรื่องที่ต้องถือว่าสำคัญมากเพราะการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เราจะเริ่มที่โรงเรียน ฉะนั้นโรงเรียนในอนาคตจะมีรูปแบบที่หลากหลายไม่ได้เป็นโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาสามัญอย่างเดียว แต่อาจจะสอนวิชาสามัญควบคู่กับวิชาชีพในสายอาชีวศึกษา หรือเป็นโรงเรียนสามัญซึ่งมีลักษณะพิเศษ เช่น โรงเรียนดนตรี โรงเรียนกีฬา โรงเรียนที่เน้นด้านศิลปะ เราอาจจะเห็นโรงเรียนที่เปิดสอนอิงลิชโปรแกรม หรือโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
โดยสรุปก็คือ โรงเรียนในอนาคตจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาสถานศึกษา เราจะไม่ตัดเสื้อตัวเดียวให้คนใส่ทั้งประเทศ แต่จะมีการตัดเสื้อเป็นรายบุคคล ไม่ได้เป็นการตัดเสื้อโหล ตรงนี้ก็เพื่อจะตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ความต้องการของเด็กๆ นวัตกรรมเหล่านี้มีหลากหลายและก็มีหลายโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ
จากสถานศึกษาซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ที่เด็กสัมผัสโดยตรง หน่วยงานที่สูงขึ้นมาก็คือระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือระดับจังหวัด สูงขึ้นมาอีกก็คือระดับกระทรวง ในรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ เราพยายามกระจายอำนาจจากกระทรวงไปสู่สถานศึกษาให้มากที่สุด นั่นก็คือโครงสร้าง ศธ.จะมีขนาดเล็กลง มีการดำเนินงานเฉพาะเรื่องของการกำหนดนโยบาย และแผนการจัดสรรงบฯ ดูแลระบบบุคลากรโดยภาพรวม จากนั้นก็จะยกให้ระดับจังหวัดดูแล ซึ่งเป็นหน่วยงานตรงกลาง อยู่ระหว่าง ศธ.และสถานศึกษา
“…วันนี้ ศธ.ได้จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ขึ้นซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการจัดการแทนที่จะให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแลโรงเรียน ให้อาชีวะดูแลอาชีวะ ให้มหาวิทยาลัยดูแลมหาวิทยาลัย ให้ กศน.ดูแล กศน. กระจัดกระจายกัน ก็จะมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้ดูแลเป็นหน่วยงานกลางในระดับจังหวัด ซึ่งเมื่อมีหน่วยงานกลางระดับจังหวัดแล้ว จะทำให้ทิศทางการพัฒนาเป็นรายจังหวัด คือจะมีการกำหนดแผน กำหนดเป้าหมาย มีการยกระดับคุณภาพการศึกษาของแต่ละจังหวัด รวมไปถึงจังหวัดไหนมีปัญหาเรื่องอะไร ก็จะมีการแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป จะส่งผลให้การจัดสรรงบฯ ทำได้ตรงกับการกำหนดทิศทางของแผนการจัดสรรบุคลากร หรือการเกลี่ยบุคลากรที่จะมาทำงานตรงกับความจำเป็นที่เกิดขึ้น…” ดร.กมล กล่าวชี้แจง
นอกจากนี้ตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ยังได้พูดถึงการสร้างกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมหรือประชารัฐ ซึ่ง ดร.กมล กล่าวว่า…
“โครงการประชารัฐ เป็นโครงการกำหนดความร่วมมือ โดยขณะนี้รัฐบาลได้มีการทำ MOU ระหว่างสถานศึกษาของรัฐบาล เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษากับภาคเอกชน คือ บริษัท หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จที่จะเข้ามาช่วยพัฒนา ซึ่งในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งยกระดับคุณภาพ ส่วนของอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มุ่งผลิตกำลังคนเพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาครัฐและตรงกับความต้องการ ของภาคเอกชน นั่นก็คือเมื่อเด็กจบไปแล้วสามารถที่จะไปทำงานได้ ทั้ง 2 ส่วน แต่ว่าในภาคประชาสังคมเอง เรารวมถึงองค์กรท้องถิ่นต่างๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง สมาคม ชมรมต่างๆ ที่อยากเห็นเราผลิตคนดีออกไปสู่สังคม
…ฉะนั้น ภาคประชาสังคม เองก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในมิติของการสนับสนุน เช่น องค์กรท้องถิ่น อาจสนับสนุนอุปกรณ์ สนับสนุนครูสำหรับมาช่วยเหลือสถานศึกษา หรือส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถพิเศษ เช่น ความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรม การเล่นดนตรีพื้นเมืองละครฟ้อนรำต่างๆ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้ในสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่นของตนเอง เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เด็กจะต้องธำรงรักษาไว้ กระบวนการทั้งหมดจึงเป็นกระบวนการที่เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม แต่ว่าประชารัฐก็จะเป็นโครงการพิเศษซึ่งกระทรวงได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบและนำไปสู่การขยายผลในอนาคตด้วย…”
นี่คือภาพคร่าวๆ ของธรรมนูญการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่จะเริ่มใช้ในปี 25560 ซึ่งยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก…โดยสามารถติดตามได้ต่อในฉบับวันพรุ่งนี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ