ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหาระยะยาว แปลงภูมิปัญญาของครูเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
เมื่อวันที่ 20 ต.ค.59 นายพิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า สำนักงาน สกสค.จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นหลักในการแก้ปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ซึ่งจากข้อมูลมีครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหนี้ อยู่ประมาณ 1.4 ล้านคน เป็นหนี้เฉลี่ยรายละ 1.5-2 ล้านบาท มูลหนี้รวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท เฉพาะครูประจำการ ประมาณ 5 แสนคน มูลหนี้ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท แต่ในจำนวนนี้มี ผู้กู้ที่มีปัญหาประมาณ 35,000 คน มูลหนี้ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมาตนได้ตั้งคณะทำงานยกร่างแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคคลกรทางการศึกษาทั้งระบบ คาดว่าจะเสนอแนวทางให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการพิจารณา ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาจะแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นวิกฤติจำนวน 35,000 คนก่อน โดยวิธีการช่วยเหลือจะแตกต่างกัน ดังนี้ 1.จัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู มีวงเงินเริ่มต้นกองทุน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นเงินหมุนเวียนของสำนักงาน สกสค.เอง อีกส่วนจะขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ 2.เจรจากับธนาคารออมสิน เพื่อให้เป็นนโยบายสำคัญ ในการลดดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ ในอัตรา 50 สตางค์ต่อปี และ 3.สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาวิกฤติเข้าขั้นไอซียู อาทิ ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000-10,000 คน จะมีการประโครงสร้างหนี้ หรือกรณีที่มีปัญหาหนักจริง ๆ เช่น พ่อแม่ ภรรยา หรือสามีเสียชีวิต ถูกฟ้องร้องล้มละลายจนถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย จะใช้กองทุนฯ เข้าไปช่วยเหลือเยียวยา ท้ายที่สุดถ้าแบกรับภาระหนี้ไม่ไหวจริง ๆ ก็อาจจะต้องพิจารณายกหนี้ให้ และหาแนวทางให้เขาสามารถตั้งตัวเพื่อให้มาปลดหนี้ในภายหลัง
“ที่บอกมาในเบื้องต้น คือการแก้ปัญหาระยะสั้น ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นจริงภายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นหลักในการแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยจะมีการจัดทำโครงการส่งเสริมคุณสภาชีวิตครูให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ครู ส่วนใหญ่ของเราไม่มีทรัพย์สินอื่นใด นอกจากปัญญา ดังนั้น สำนักงาน สกสค.จะไปคิดว่าทำอย่างไรจึงจะนำภูมิปัญญาของครูมาแปลงเป็นทรัพย์สินได้ ซึ่งผมเองมีแนวคิด นำภูมิปัญญาของครูมาต่อยอด สร้างมูลค่าในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ โดยมีสำนักงาน สกสค.เป็นตัวกลาง ใครสนใจศึกษาภูมิปัญญาเรื่องใด ก็เข้ามาช็อปปิ้ง เหมือนเลือกซื้อสินค้า และจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับครูเจ้าของภูมิปัญญา สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันจะทำการส่งเสริมการทำอาชีพให้ครูในรูปแบบอื่น ๆ ให้มีรายได้พอเพียง จะได้ไม่ต้องไปก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก” นายพิษณุ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ