นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ค้นพบแมลงชีปะขาวในสกุล Sangpradubina โดยความร่วมมือกับ Dr.Michel Sartori จากพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา (Museum of Zoology) เมืองโลซาน สมาพันธรัฐ สวิส สำรวจความหลากหลายของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง หน้าดินในลำธารต้นน้ำภาคตะวันออก และภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับบัณฑิต พสวท.แรกบรรจุ จาก สสวท.
รศ.ดร.บุญเสฐียร บุญสูง อาจารย์ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ผู้ค้นพบแมลงชีปะขาว กล่าวว่า แมลงชีปะขาวในสกุล Sangpradubina ที่พบใหม่จัดอยู่ในวงศ์ Leptophlebiidae วงศ์ย่อย Atalophlebiinae
มีลักษณะที่น่าอัศจรรย์ คือ ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกับสกุล Choroterpes แต่ตัวอ่อนมีลักษณะคล้ายกับสกุล Thraulus คือทั้งตัวอ่อน ตัวเต็มวัยและไข่ ซึ่งมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากแมลงชีปะขาวสกุลอื่น ๆ อย่างชัดเจน เช่นลักษณะของเหงือก โครงสร้างปาก โครงสร้างเปลือกไข่ เป็นต้น ซึ่งแหล่งที่พบและเก็บตัวอย่างแมลงชีปะขาวสกุลใหม่นี้ อยู่ในลำธารต้นน้ำ 2 บริเวณ คือ แก่งส้มแมว อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และคลองชบา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี อาศัยอยู่บนก้อนหินขนาดกลาง บริเวณแอ่งน้ำไหลเอื่อย
“ตัวอ่อนของแมลงชีปะขาว พบในลำธารจะมากจะน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพของลำธารหรือแม่น้ำนั้น ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว เป็นสัตว์หน้าดินกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพแหล่งน้ำทางชีวภาพ หากพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวอาศัยชุกชุมในแหล่งน้ำ ก็แสดงว่าบริเวณนั้นไม่มีหรือมีการปนเปื้อนของมลพิษน้อย” นักวิจัย มก.กล่าว
ปัจจุบันลําธารต้นน้ำของไทยมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมใกล้ลําธาร เช่น การถางป่า การเปลี่ยนแปลงช่องทางการไหลของน้ำ การพังทลายของดิน การใช้สารเคมีทางการเกษตร เหล่านี้ล้วนส่งผลให้คุณภาพน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพในลําธารลดลง การค้นพบแมลงชีปะขาวสกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย ถึงแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
อย่างไรก็ตามในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา รศ.ดร.บุญเสฐียร ยังค้นพบแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก อีก 2 ชนิด ได้แก่ Compsoneuriella braaschi Boonsoong & Sartori, 2015 และ Gilliesia ratchaburiensis Boonsoong & Sartori, 2015
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ