“หน้าที่และเกียรติสูงสุดของข้าราชการ คือ การตอบแทนคุณแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และจงรักภักดี” เป็นคติในการทำงานของ “สุขกมล รัตนสุภา” อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่
กว่า 30 ปีที่รับราชการคิดอยู่เสมอว่า “ครู” เปรียบเสมือนเทียนไขที่ยอมเผาตัวเองเพื่อให้แสงสว่างแก่ผู้อื่น “ความเสียสละ” จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในอาชีพครู บางคนเป็นครูมืออาชีพแต่บางคนเป็นได้แค่อาชีพครู ฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งแรกที่คิดและระลึกถึงเสมอ คือ ความสำเร็จและผลประโยชน์ของศิษย์ “ความสุขของครูอยู่ที่ความสำเร็จของศิษย์” เป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตครู ด้วยความตระหนักว่า ครูคือประติมากรรมทางจิตวิญญาณ สังคมต้องการ “แบบ” มากกว่า “บอก” การเสียสละ อุทิศตนในการทำงานอย่างเต็มที่ เต็มเวลา เต็มกำลังความสามารถ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิษย์ คือ สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
อาจารย์สุขกมล มีความตระหนักอยู่เสมอว่า ศิษย์ทุกคนที่สอนต้องได้รับความรู้และประโยชน์ ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพ ที่เขาชอบและรู้สึกว่าใช่ ฉะนั้น คนเป็นครูต้องรอบรู้และแม่นยำในศาสตร์ที่สอน ต้องรู้ลึก รู้กว้าง รู้จำ รู้จริง รู้แจ้ง และรู้โลก คือรอบรู้วิชาการและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน…อีกข้อสำคัญคือศิษย์แต่ละคนมีภูมิหลังชีวิตที่ต่างกัน ครูต้องเข้าใจในตัวศิษย์และเข้าไปนั่งในใจศิษย์ให้ได้…คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน แต่สามารถเลือกปฏิบัติให้เท่าเทียมกับผู้อื่นได้…ครูหนึ่งคน ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนทิศทางชีวิตของศิษย์
…งานของครู จึงถือว่าเป็นงานหนักและเหนื่อย แต่เมื่อศิษย์ประสบความสำเร็จ ก็ถือว่าครูบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเช่นกัน
สิ่งที่อาจารย์สุขกมล ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ คือ ความรู้ด้านวิชาการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง เช่น ศิลปะการพูด ทักษะการเขียน ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารฯ โดยตระหนักอยู่เสมอว่าครูไม่ใช่เจ้าของวิชา ฉะนั้นทักษะการถ่ายทอดความรู้จึงเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางการเรียนการสอน และเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยมีครูผู้สอนเป็นที่ปรึกษา
กระบวนการสอนเช่นนี้ทำให้ผู้เรียนมีความสุข และสนุกกับการเรียน สามารถค้นหาตัวตนและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ ศิษย์บางคนเริ่มต้นจากการพูดไม่เป็น เขียนไม่ได้ ไม่มีความกล้าแสดงออก แต่ปัจจุบันสามารถพูดได้อย่างมืออาชีพ จนได้รางวัลมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศการแข่งขันโต้วาทีภาษาใต้ ครั้งที่ 8 ในงานมหกรรมวิชาการ ราชมงคลศรีวิชัยแฟร์ ฯ สามารถเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรโดยการเขียนเป็นหนังสือต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น เรื่องความจริงที่ลบไม่ได้ โดยนางสาวสุตาภัทร หนูฤทธิ์, ความทรงจำ…ที่ไม่มีวันลืม นางสาวสุรีรัตน์ เพชรทองบุญ และชีวิตที่เลือกไม่ได้ โดยนางสาวขจีวรรณ หนูแก้ว เป็นต้น
ถือเป็นการเรียนรู้เชิงบูรณาการ ที่ทำให้ศิษย์กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าแสดงออก บนพื้นฐานของการรังสรรค์สังคมและวัฒนธรรมที่ดีงาม…เพราะครูไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในชั้นเรียน…แต่เป็นเพียงส่วนเติมเต็มเพื่อสร้างความรู้ที่สมบูรณ์ให้กับศิษย์ เพราะปัจจุบันมีสื่อต่าง ๆ ที่ศิษย์สามารถค้นคว้าหาความรู้ได้มากมาย
และนี่คือศิลปะและแนวคิดที่อาจารย์สุขกมล ปฏิบัติและถ่ายทอดแก่ศิษย์มาโดยตลอด ซึ่ง มทร.ศรีวิชัย ได้มอบรางวัลบุคลากรดีเด่น ด้านการเรียนการสอน ประจำปี 2559เพื่อเป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ และเป็นแบบอย่างให้แก่ครูทุกคน...สุขกมล รัตนสุภา…ครูเป็นแบบ มากกว่าบอก
“ครูดี…โรงเรียนเด่น” ขอขอบคุณข้อมูลจากงานประชาสัมพันธ์ มทร.ศรีวิชัย ที่นำเผยแพร่เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ครูทั่วไทย
แล้วพบกันใหม่ ที่นี่!!!
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ