สกศ.ถกนานาชาติ-เห็นพ้อง E-Teacher พัฒนาสมรรถนะครู
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมเครือข่ายวิจัยทางการศึกษาประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ครั้งที่ 3 หรือซี-เซิร์น โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษา แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนจากศูนย์อาเซียน-จีน (ACC) และผู้แทนจากสถาบันวิจัยการศึกษาและวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (NIES) รวม 10 ประเทศ มาประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการของไทย และ ผู้แทน สกศ.เพื่อระดมแนวคิดเกี่ยวกับการวางกรอบแนวทางปฏิบัติ และหารือประเด็นท้าทายเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือแอดมิสชั่นส์ ของประเทศสมาชิก
เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมทำให้เห็นภาพรวมของกลุ่มประเทศสมาชิกว่า มีระบบแอด มิสชั่นส์ที่คล้ายคลึงกัน คือ มีระบบการทดสอบกลางเป็นหลัก แต่ก็เริ่มมีการปรับระบบมาใช้การประเมินทัศนคติ คุณลักษณะ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน มาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์ในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น
โดยในส่วนของประเทศที่มีพัฒนาการระดับอุดมศึกษาสูง เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย มุ่งเน้นความต้องการนักศึกษาที่สอดคล้องกับภาคธุรกิจและการศึกษาตลอดชีวิต โดยรัฐบาลสิงคโปร์ จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้เรียน ผู้ปกครอง และสังคมรับรู้ว่าใบปริญญาและการได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบเดียวของชีวิต แต่ผู้เรียนควรเลือกเส้นทางการศึกษาตามสมรรถนะ และความต้องการของตนเองเป็นหลัก เป็นต้น
ดร.กมล กล่าวด้วยว่า สำหรับทิศทางคุณภาพครูในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และจีนนั้น ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาครูและสร้างสมรรถนะที่จำเป็นของครูในศตวรรษที่ 21ที่ตอบสนองการพัฒนาของแต่ละประเทศ โดยครูในศตวรรษที่ 21 ตามที่ที่ประชุมเห็นตรงกัน คือควรมีลักษณะเรียกว่า E-Teacher คือ เปลี่ยนสถานะจากครูเป็นผู้สอนหรือถ่ายทอดความรู้ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้แนะแนวทาง และครูควรเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ร่วมศึกษาแก่ผู้เรียน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ