“ดาว์พงษ์” จับมือ สธ. มหาดไทย และ พม. ดูแลตั้งแต่แรกเกิด – เข้าสู่่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กำชับถอดความต้องการงบอุดหนุนรายหัวอย่างชัดเจน พร้อมประสานนำเงินกองทุนคนพิการ มาช่วยสนับสนุนด้วยอีกทาง
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาคนพิการ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงระบบคัดกรองความพิการเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เนื่องจากความพิการมีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องสร้างระบบคัดกรองความพิการของเด็ก ให้มีคุณภาพ เพื่อแบ่งแยกความพิการแต่ละระดับ ไม่ใช่รอพึ่งความช่วยเหลือจากแพทย์เพียงอย่างเดียว อีกทั้งที่ผ่านมาระบบคัดกรองที่มีอยู่ก็ใช้มาประมาณ 10 ปีแล้วและมีหลากหลายเวอร์ชั่น ตนจึงต้องการรวบรวมระบบคัดกรอง ที่มีอยู่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“ผมย้ำว่าการดูแลเด็กพิการตั้งแรกเกิดจนถึงเข้าเรียน ต้องเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ ศธ.หรือไม่ ซึ่งมีข้อสรุปและเห็นตรงกันว่า ต้องเป็นความร่วมมือ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ ศธ. โดยเริ่มต้นจาก สธ.เพราะเป็นหน่วยงานที่ทราบคุณลักษณะความพิการของเด็ก จากนั้นจะให้ พม.และ มท.ช่วยสแกนข้อมูลเด็กพิการในพื้นที่ เพื่อส่งไม้ต่อมาให้ ศธ.นำเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งมีบุคลากรในการดูแลเด็กพิการ และขณะนี้ได้จัดทำหลักสูตรอบรมครูผู้สอนเด็กพิการเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการจัดทำแอพพลิเคชันสำหรับผู้ปกครอง เพื่อให้ดูแลเด็กพิการอย่างถูกต้องด้วย”
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวและว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงการสนับสนุนเด็กพิการเรียนร่วม ที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คน โดยให้ถอดความต้องการงบอุดหนุนรายหัวสำหรับเด็กกลุ่มนี้ให้ชัดเจนว่า แต่ละโรงเรียนที่มีการเรียนร่วมจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งคณะทำงานต้องแจกแจงความต้องการไม่ใช่พูดถึงแต่ตัวเลข เพราะตนต้องการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้เด็กกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันจะประสานไปยัง พม.ในการนำเงินกองทุนคนพิการของ พม. มาช่วยสนับสนุนเด็กพิการตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเข้าเรียน เช่น บางโรงเรียนมีความประสงค์จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กพิการ เป็นต้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ