อีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ของคนสู้ชีวิต “น้องดา” นางสาวธมลวรรณ แซ่ว่าง สาวม้ง ใฝ่ดี จากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา สู้ชีวิต ด้วยความเพียร จนสำเร็จการศึกษาหลังจากสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ด้วยผลการเรียนเฉลี่ย (GPA)3.58
เส้นทางชีวิตของเธอไม่ได้สวยงามเหมือนดั่งผลการเรียน
น้องดา เล่าว่า เป็นชนเผ่าม้ง ที่บ้านทำนา ทำไร่ ในครอบครัวมีพี่น้อง 21 คน ด้วยพ่อมีภรรยา3 คน ตนเองเป็นลูกของแม่คนที่ 2 ซึ่งแม่มีลูก 9 คน โดยเป็นคนที่ 6
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมชั้นปีที่ 6จากโรงเรียนเชียงคำวิทยาคม ที่บ้านไม่อยากให้เรียนต่อ ด้วยเป็นลูกผู้หญิงอยากให้แต่งงานมีครอบครัวมากกว่า แต่ด้วยอยากเรียนหนังสือ “อยากสวมชุดครุย เข้ารับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ถ่ายภาพรับปริญญาพร้อมหน้าพ่อแม่ ญาติพี่น้อง”
น้องดาจึงตัดสินใจที่จะหาเงินส่งตนเองเรียน โดยเดินทางจาก จ.พะเยา เข้ากรุงเทพฯ มาทำงานโรงงานแห่งหนึ่งกับพี่สาว โดยตลอดเวลา 1 ปี ในโรงงาน คิดเสมอว่า “ต้องเรียนให้สูงที่สุด และต้องนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งทางชนเผ่ายึดอาชีพการปักผ้า” พร้อมอยากจะเผยแพร่พัฒนาผ้าลายปักให้เป็นที่รู้จักเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาหมู่บ้าน
1 ปีกับชีวิตสาวโรงงาน ที่ต้องทำงานอยู่กับเครื่องจักร ขณะมีพี่ในที่ทำงานแนะนำให้เรียนต่อ จึงตัดสินใจสอบตรงเข้าที่สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ซึ่งเมื่อได้เข้ามาเรียนต้องใช้จ่ายเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขึ่ยให้ประหยัดให้มากที่สุด โดยบริหารเงินที่เก็บระหว่างทำงานในโรงงาน 1 ปี ใช้จ่ายค่าเทอม ค่าหอ และค่าใช้จ่ายประจำวัน เนื่องจากไม่ได้ขอเงินจากทางบ้าน
แต่เมื่อเข้าปี 2 เทอม2 เงินที่เก็บไว้ไม่พอจ่าย จึงตัดสินใจพักการเรียน เพราะไม่มีเงินค่าเทอม และรายจ่ายต่าง ๆ มากมาย อยากพักการเรียนเพื่อไปหางานทำก่อน แต่โชคดีที่ ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ทราบเรื่องจึงให้ความช่วยเหลือ และได้โพสต์เรื่องราวของตนเองลงในเฟสบุ๊ค
เมื่อเรื่องราวถูกแชร์ มีผู้ใจบุญเห็นข่าว ให้ความเมตตาช่วยเหลือ ขณะที่ครูวิไลลักษณ์ แสงสีจัน คุณครูที่โรงเรียนเชียงคำวิทยาคม ได้ทำเรื่องขอทุนจากกองทุนเสด็จพ่อ ร.5 (เชียงคำ) ให้ โดยให้ทุนเทอมละ 12,000 บาท จนสำเร็จการศึกษา รวมทั้งทุนให้เปล่าจากกองทุนพัฒนานักศึกษา มทร.ธัญบุรี และเงินจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดือนละ2,200 บาท ทำให้ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง และบริหารเงินที่ได้โดยใช้จ่ายกับน้องสาวที่เรียนอยู่คณะเดียวกัน โดยปัจจุบันน้องสาวกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4
ระหว่างที่เรียน น้องดาได้รับงานพิเศษจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาทำด้วย งานพิเศษ คือ งานแปลเอกสาร หน้าละ 30 บาท พร้อมเข้าไปช่วยงานที่ฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ช่วยทำเอกสารต่างๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละวันในมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินจำกัดแค่วันละ 100 บาท จะไม่ให้เกินกว่านี้ ตอนเย็นจะซื้อกับข้าวไปทำกินที่หอพักกับน้องสาว โดยค่าหอพักประมาณ 2,300 บาท
“ในห้องไม่มีทีวี ส่วนใหญ่จะยืมหนังสือห้องสมุดมาอ่าน และมีเพียงโน้ตบุ๊กที่ได้รับบริจาคมาจากผู้ใจบุญ ใช้ทำงานทำการบ้านส่งอาจารย์” ขณะเวลาว่างเสาร์ – อาทิตย์ จะใช้ชีวิตในห้องสมุดมหาวิทยาลัย 1 ปี จึงจะกลับบ้าน 1 ครั้ง และจะโทรไปหาแม่ 3 ครั้ง / เดือน เพื่อขอกำลังใจ
ปัจจุบันน้องดาทำงานที่ บริษัท ไนซ์ แอพพาเรล จำกัด ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการส่วน IE & Lean สาขาเมืองพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบริษัทที่ฝึกงาน เมื่อเข้าไปฝึกงานรู้สึกดี ตรงกับสายงานที่เรียนมา บวกกับบริษัทมีสวัสดิการให้กับพนักงาน โดยมีบ้านพักให้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย
บางคนอาจคิดว่าทำไมไม่กลับบ้านไปทำงานใกล้บ้าน น้องดาว่า อยากหาประสบการณ์ในการทำงานก่อน แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสจะกลับบ้านไปหาพ่อแม่เสมอ ตอนนี้ทำงานได้ 4 เดือน พอมีเงินเก็บ โดยสิ่งที่ตั้งใจไว้อยากทำให้ครอบครัวคือพาไปเที่ยวทะเล เพราะที่บ้านไม่เคยไป วางแผนไว้ว่าจะพาไปเกาะล้านสักครั้ง เพื่อมอบความสุขให้ด้วยเงินของตนเอง
ทั้งนี้ น้องดาฝากถึงน้อง ๆ ก่อนที่ตัดสินใจเรียน ต้องดูสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง อยากได้อะไรจากการเรียน อยากได้อะไรจากปริญญา อยากให้ตั้งเป้าหมาย เมื่อมีเป้าหมายต้องตั้งใจคว้ามาให้ได้ ภูมิใจที่มีวันนี้ สมหวังกับเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ พร้อมขอบคุณทุกคนที่มีส่วนช่วยเหลือและผลักดันให้ตนเองมีวันนี้
ขอบคุณ ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ ผศ.สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่คอยให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ และครูวิไลลักษณ์ แสงสีจัน ที่ให้ความช่วยเหลือมาตลอด
“วันนี้เป็นวันที่มีความสุขที่สุดในชีวิต วันที่ได้สวมชุดครุย เข้ารับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำใบปริญญามาถ่ายภาพกับพ่อแม่ ได้เห็นรอยยิ้มของท่าน”
ด้านนายสนชัย นางซ้ง แซ่ว่าง พ่อและแม่ของน้องดา เล่าว่า “ดีใจที่สุดในชีวิต ตื้นตันจนพูดไม่ออก ไม่มีอะไรมาแลกความรู้สึกในครั้งนี้ได้” ดาเป็นลูกคนแรกของแม่ที่รับปริญญา ดาเป็นเด็กดีมาก ขยัน ช่วยทุกอย่างที่บ้าน “ทำอะไรจะนึกถึงพ่อแม่ก่อนเสมอ”
ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า รู้สึกภูมิใจประทับใจ ที่ได้ส่งมอบโอกาสให้เด็กคนหนึ่งได้ถึงฝั่ง โดยน้องดาเป็นนักศึกษาคนแรกในโครงการใฝ่ดี ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นนักศึกษาที่ตนเองตั้งใจให้โอกาส และเป็นนักศึกษาคนแรกที่สำเร็จการศึกษา โดยไม่ได้ทำให้ผิดหวัง มีความกตัญญูรู้คุณคน
“ อยากให้ทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือภาคภูมิใจ และผมต้องขอบคุณน้องดาที่ทำให้ผมยึดมั่นและศรัทธาในการทำความดีและส่งต่อมอบโอกาสให้คนอื่นต่อไป มีกำลังใจที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อ และหวังว่าตัวของน้องดาจะนำความรู้ในการศึกษาครั้งนี้ไปช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือคนรอบข้าง และช่วยเหลือสังคมต่อไป”
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ