คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”
ความก้าวหน้าอีกขั้นที่ไปไกล ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการ “Field Practice Solutions (FPS) : ที่ปรึกษาทุกปัญหาเรื่องไร่” ที่เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาต (สอวช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเอกชน พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อย การประเมินผลผลิตอ้อย (Field Practice Solutions)
ทั้งนี้ มี รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับ บริษัทHG Robotics บริษัทGlobal crop พัฒนาเทคโนโลยี และมี บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนข้อมูล และทดลองใช้งาน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผลงานด้านนวัตกรรม และส่งเสริมวิสาหกิจให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ ต่อยอดและร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาผลงานนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล โดยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา New – S- Curve หรืออุตสาหกรรมอนาคตของไทย ที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก
“ขณะที่เรามีต้นทุนการผลิตภาคเกษตรสูงกว่าประเทศอื่น ๆ การลดต้นทุนการผลิตจึงจำเป็นต้องมี solution หรือวิธีแก้ปัญหาในการบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พัฒนาระบบที่สามารถติดตามและตรวจวัดปริมาณคุณภาพผลผลิต ในแปลงเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือAIเข้ามาช่วยจัดการแนวคิดดังกล่าว ผสานกับเทคโนโลยี IOT และATจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรวมกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่มีศักยภาพสูง และกลุ่มพลังงานชีวมวล ร่วมกันทำงาน
รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ หัวหน้าโครงการ พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อย การประเมินผลผลิตอ้อย (Field Practice Solutions : FPS) เผยว่า การพัฒนานวัตกรรมจะต้องลดต้นทุน คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งโครงการ FPS นับเป็นการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อย มีราคาต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งในต่างประเทศมากถึง 20 เท่า และมีความหวานแม่นยำมากกว่าบริการปัจจุบันเพียงบวกลบหนึ่ง ซึ่งบริการการตรวจค่าความหวานในไทย ปัจจุบันเป็นระบบจัดการด้วยคนคือเก็บตัวอย่างด้วยมนุษย์ซึ่งมีความผิดพลาดถึงร้อยละ 40
แต่หากใช้ระบบ FPS ซึ่งเป็นการนำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน พัฒนากับซอฟแวร์ภาพถ่ายดาวเทียมของเอกชน นำมาวิเคราะห์ค่าความหวาน การเติบโตของพืช การวิเคราะห์โรคพืช โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลไร่อ้อยเป็นแสน ๆ ไร่ในเวลาอันรวดเร็วและแม่นยำ เรียกว่าระบบArtificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์
เมื่อสามารถวิเคราะห์ ภาวะการเก็บเกี่ยวในเวลาที่ถูกต้อง จะไม่สูญความหวาน ไม่สูญเสียผลผลิต เกิดการคำนวณการจัดคิวการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเวลาดีที่สุด ความหวานดีสุดจะทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและลดภาวะการเผาอ้อยลดการเกิดมลพิษ PM 2.5เกิดการจัดการในทุกมิติได้ดียิ่งขึ้น
“นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน้าที่นำภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์อัลกอริทึม หรือวิธีขั้นตอนกระบวนการ วิเคราะห์ ค่าสะท้อนแสงของใบพืช ค่าการดูดกลืนของน้ำ ในใบพืช แสดงผลเป็น ความเข้มของสี แสดงความหวานที่เหมาะสม บวกลบไม่เกิน1คือมีความแม่นยำสูงมาก ด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ (AI) ทำให้เห็นว่า พื้นที่ตรงไหนเป็นอ้อย ตรงไหนคือดิน ความสูงของอ้อยเท่าไหร่ คิดเป็นความหวานเท่าไหร่ สุขภาพดีไหม อ้อยโตหรือยัง โดยอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์เทคโนโลยีอัตโนมัติ Aiซึ่งระบบนี้เป็นโมดูลหนึ่งในFPS”
อย่างไรก็ตาม ซอฟแวร์ของเราต้องเขียนระบบควบคุมการบินและจำกัดข้อมูล เพื่อไม่ให้รั่วไหลในต่างประเทศ เพื่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการเกษตรของชาติ ซึ่งในอนาคต คาดหวังว่าจะเกิดการใช้ฐานข้อมูลนี้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากbig digital dataคนใช้ยิ่งเยอะยิ่งดี ข้อมูลตรงนี้จะเป็นการรวบรวมโรงงานทั้งหมด ไร่อ้อยทั้งหมด ที่เราเป็นเจ้าของเอง สามารถพัฒนาข้อมูลได้เอง เป็นประโยชน์กับชาติในทุกด้าน ซึ่งในอนาคตอันใกล้ระบบหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นสิ่งที่จับต้องได้และได้รับความนิยมมากไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องมาถึง แล้วเราจะพร้อมสำหรับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดร่วมกันในหลากมิติ รศ.ดร.ขวัญตรีกล่าว
โครงการ “Field Practice Solutions (FPS) : ที่ปรึกษาทุกปัญหาเรื่องไร่” มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงไม่เป็นการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อยในมาตรฐานระดับนานาชาติเท่านั้น แต่นับเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ (AI) สำหรับการเกษตรปรึกษาเรื่องไร่อย่างครบวงจรด้วยระบบอัตโนมัติ สามารถวิเคราะห์เชิงลึกว่า โรงงานน้ำตาลจะใช้เครื่องจักรกี่ตัวที่ให้ผลประโยชน์สูงสุด คำนวณพื้นที่ใส่ปุ๋ย บ่งชี้โรคพืช โดยอัตโนมัติ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5GและAIที่กำลังมาถึง
โดยมีแนวโน้มว่าเกษตรกรจะสามารถปลูกอ้อยและจัดการอ้อยเป็นร้อยไร่ได้เพียงคนเดียว ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถติดต่อที่ หัวหน้าโครงการโทร.099-420-0594
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ