งานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียน ซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจว ที่เมืองกุ้ยหยาง เมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน เป็นเวทีจัดขึ้นทุกๆ ปี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2008 และปีนี้เป็นปีที่ 11 แล้ว มีองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศกลุ่มอาเซียนเข้าร่วม จนกลายเป็นแพล็ทฟอร์มที่สำคัญแห่งหนึ่งสำหรับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างจีนและอาเซียน ทำให้มณฑลกุ้ยโจวซึ่งตั้งอยู่ที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีบทบาทโดดเด่นขึ้นเป็นที่รู้จักกับโลกภายนอกในเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษา
วันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้ เป็นวันแรกของการเปิดงานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียนปี 2019 ประเด็นที่เน้นหนักในปีนี้คือความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา ความร่วมมือทวิภาคีอุดมศึกษา ฯลฯ
อนึ่ง ประเทศจีนกับประเทศกลุ่มอาเซียนนับว่าเป็นเพื่อนบ้านที่มีการไปมาหาสู่กันอย่างยาวนาน เมื่อปีค.ศ. 2013 ประธานาธิบดี สี จิ้ง ผิง ได้เสนอแนวคิดข้อริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง( one belt & one road) ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสีก็ได้เชิญชวนให้ประเทศกลุ่มอาเซียนร่วมมือกับจีนเพื่อสร้างสรรค์ประชาคมร่วมทุกข์ร่วมสุขจีน-อาเซียน ฉะนั้น เพื่อรองรับนโยบายอันสำคัญของสี จิ้ง ผิง นี้ เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จีนกับอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ๓๐ ปีข้างหน้าในเรื่องความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ซึ่งในเอกสารฉบับนี้ ได้ระบุถึงงานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียน ถือเป็นกลไกร่วมมือทางด้านการศึกษาที่สำคัญที่สุด
ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ รัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมงานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียนด้วย ซึ่งฝ่ายไทยได้จัดฟอรั่มทวิภาคีร่วมกับฝ่ายจีนหลายฟอรั่ม เป็นการแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งในการผลักดันความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน
ความสัมพันธ์ไทย-จีน มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทวิภาคีทางการศึกษาและวัฒนธรรมก็นับวันมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อปี 2018 นักศึกษาไทยที่ไปศึกษาที่เมืองจีนมีมากถึง 28,608 คน ติดอันดับที่หนึ่งในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียน และนักศึกษาจีนที่มาศึกษาที่เมืองไทยเชื่อว่ามีมากกว่า 30,000 คน
ดังนั้น หากทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากกลไกร่วมมือทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะ จากงานสัปดาห์แห่งการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจีน-อาเซียนให้ดี ต่างก็จะได้รับผลประโยชน์จากแพล็ทฟอร์มนี้อย่างมากได้ ซึ่งก็จะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจต่อกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ดร. ฉิน อี้(นักวิชาการอิสระ)
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ