อินทัชทุ่มไม่อั้น เปิดแผนลงทุน 5 ปี ปรับโฟกัสลุยลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้อง 5G หวังสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจในเครือยกแผง ล่าสุดปิดดีล “โคนิเคิล” สตาร์ตอัพสายการศึกษา และเตรียมเข้าลงทุนในกองทุนอิสราเอลต่อ
ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล หัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเวนต์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งสตาร์ตอัพในหลาย ๆ ธุรกิจ
โดยในแง่การลงทุนโดยรวมปีนี้คาดว่ามูลค่าการลงทุนจะใหญ่ขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสตาร์ตอัพไทยหลายตัวมีการเติบโตที่โดดเด่น และนักลงทุนก็หันมาลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ทั้งเวียดนาม ไทย
ขณะเดียวกัน อินทัชเดินหน้าลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพต่อเนื่อง โดยทิศทางการลงทุน 5 ปีจากนี้ (ปี 2564-2568) จะเร่งลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ 5G เช่น เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) ด้านสุขภาพ (HealthTech) ด้านการเงิน (FinTech) เป็นต้น โดยเป้าหมายหลักคือการลงทุนเพื่อเสริมพอร์ตและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจในเครือ ทั้งเอไอเอส ไทยคม “ไฮช้อปปิ้ง”
“ปีที่ผ่านมาบริษัทโฟกัสที่การลงทุนในกลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์และดิจิทัลเอ็นเตอร์ไพรส์ เช่น แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการ ทิศทางของธุรกิจในเครือ
แต่จากนี้ไปธุรกิจโทรคมนาคมกำลังจะเปลี่ยนไป ทำให้ต้องปรับทิศทางการลงทุนใหม่เพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยการโฟกัสที่การลงทุนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ 5G มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 5G ได้ในอนาคต”
กางแผนลงทุนต่อ
สำหรับการลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การลงทุนร่วมสร้างธุรกิจ tech startup (venture builder) ภายใต้โครงการ “InVent Builder” ซึ่งจะช่วยสร้างและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับ 5G ตั้งแต่เริ่มจนเติบโต ซึ่งมีโอกาสในการทำ venture builder program เพื่อสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัพไทยให้แข็งแรงขึ้น โดยปีนี้ได้ทำ venture builder ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) ไปแล้ว เพราะเชื่อว่า 5G จะช่วยยกระดับการให้บริการ
2.การลงทุนผ่านกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล (venture capital fund) เพื่อขยายโอกาสการลงทุนที่ครอบคลุมในทุกภูมิภาค มุ่งหา deal flow ที่มีคุณภาพด้วยความเชี่ยวชาญจากผู้จัดตั้งกองทุนจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง
และนำมาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ธุรกิจ สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ให้กับบริษัทในกลุ่มอินทัช ซึ่งปีนี้ได้ลงทุนในกองทุนอิสราเอลเป็น กองทุนแรก และยังเหลืออีก 3-4 กองทุนที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
“การลงทุนที่ผ่านมาไม่ได้แยกหรือกำหนดงบฯลงทุนที่แน่นอนไว้ ว่าจะลง venture builder และกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล แต่การลงทุนจะใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดที่มี ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังใช้ไม่หมด ขณะที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทใช้งบฯลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพเฉลี่ยปีละ 200-250 ล้านบาท และปี’64 คาดว่าจะใช้งบฯลงทุน 200-250 ล้านบาทเช่นกัน”
ดร.ณรงค์พนธ์กล่าวเสริมว่า การแพร่ระบาดโควิดทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง กระทบต่อหลาย ๆ ธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นตัวเร่งสำคัญ ในการกระตุ้นให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้
เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มุ่งสู่ดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้นถือเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มโครงการ Venture Builder การลงทุนผ่านกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล ที่เกี่ยวข้องกับ 5G และ emerging technology ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต รวมถึงการลงทุนผ่าน JV/M&A เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย
เปิดพอร์ต 9 ปี 26 สตาร์ตอัพ
อย่างไรก็ตาม ช่วง 9 ปีที่ผ่านมาลงทุนไปทั้งหมด 26 สตาร์ตอัพ คิดเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุน 1,300 ล้านบาท และได้ทำการ exit แล้ว 7 สตาร์ตอัพ ซึ่งต้นปีที่ผ่านได้เข้าลงทุนในบริษัท โคนิเคิล จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพด้านการศึกษา (EdTech)
ทั้งนี้ เฉพาะปี 2563 ได้ลงทุนในสตาร์ตอัพภายใต้โครงการอินเวนต์ เพิ่ม5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดาต้าฟาร์ม จำกัด บริษัท แอกซินัน พีทีอี ลิมิเต็ด บริษัท พาโรนีม จำกัด บริษัท ชมชอบกรุ๊ปจำกัด และบริษัท สวิฟท์ ไดนามิคส์ จำกัด
รวมทั้งได้มีการลงทุนเพิ่มในบริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้ว 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เพียร์พาวเวอร์ จำกัด บริษัท ช็อคโก้ คาร์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และบริษัท อีเวนท์ ป๊อปโฮลดิ้งส์ พีทีอี ลิมิเต็ด ทำให้จำนวนเงินลงทุนรวมทั้งปี 2563 อยู่ที่ 279 ล้านบาทซึ่งครอบคลุมหลายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ประกันภัยสมัยใหม่ เทคโนโลยีวิดีโอเชิงโต้ตอบ แพลตฟอร์มการรวมและแลกแต้ม รวมถึงไอโอที
นอกจากนี้ยังได้ขายหุ้นที่ลงทุนในบริษัท โซเชี่ยล เนชั่น จำกัด และบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด ทำให้มูลค่าพอร์ตการลงทุน ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 975 ล้านบาท โดยมีบริษัทที่อยู่ภายใต้การลงทุนของโครงการอินเวนต์รวม 18 บริษัท แบ่งสัดส่วนลงทุน 6 กลุ่ม
ได้แก่ ดิจิทัลมีเดีย 23% รวม 2 บริษัท ดิจิทัลเอ็นเตอร์ไพรส์23% จำนวน 5 บริษัท ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ 15% รวม 3 บริษัท ฟินเทค15% รวม 3 บริษัท อีคอมเมิร์ซ 12% รวม 2 บริษัท เฮลท์เทค 8% รวม 2 บริษัท และสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษา 4% จำนวน 1 บริษัท
สำหรับผลประกอบการปี 2563 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 11,368 ล้านบาท ลดลง 1% จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 11,491 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 11,048 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 11,083 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้กำไรจากเอไอเอสลดลง 10% จากปีก่อน เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบโควิด-19 และสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น