เผยแพร่:
ปรับปรุง:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กสศ.ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี กางแผนพัฒนาทักษะอาชีพเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาเน้นให้ “ทุนหมุนเวียน” คู่กับ “จัดซื้ออุปกรณ์” ไปตั้งต้นอาชีพเสริม พร้อมจัดกิจกรรมแทรกทักษะชีวิต ด้านครูพี่เลี้ยง อัพสกิลเท่าทันโซเซียลรู้จักใช้สื่อให้เป็นประโยชน์เพื่อสังคม
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2564 โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ : ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นมาตรการคุ้มครองทางสังคมด้านการศึกษาแก่เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพแบบรายกลุ่ม อาทิ ช่างแอร์ ช่างยนต์ เบเกอรี่ และ ขายของออนไลน์เพื่อให้เยาวชนวัยแรงงาน 18 – 25 ปี ได้มีอาชีพเสริมระหว่างทำงานประจำเผื่อไว้เป็นทางเลือกหากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หรือ อนาคตความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) เข้ามาทดแทนแรงงานคนอนาคตอาจต้องถูกออกจากงาน หรือ ปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ พร้อมกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไรให้เกิดประโยชน์เชิงสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และ การศึกษา เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือระดมพลังความร่วมมือจากกลุ่มสมาชิกของแต่ละสหภาพที่มีอยู่กว่า 5 – 6 พันคน ที่ทำงานอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต
สำหรับแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพแก่เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาของโครงการฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. “ทุนหมุนเวียน” ในการตั้งต้นการประกอบอาชีพเสริม 2. “จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบอาชีพ” ตามความต้องการ และ 3. “จัดกิจกรรม” เป็นการให้ความรู้ประกอบการฝึกปฏิบัติจริง พร้อมกับสอดแทรกข้อคิดด้านทักษะชีวิตด้วยการนำบุคคลตัวอย่างมาบอกเล่าความสำเร็จจากการประกอบอาชีพเสริมว่าเกิดประโยชน์และเป็นผลดีอย่างไร จนสามารถประคับประคองชีวิตท่ามกลางเศรษฐกิจอันเปราะบางจากวิกฤตโควิด-19 หรือ การเปลี่ยนผ่านการใช้แรงงานคนไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ หุ่นยนต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้โครงการฯ ได้กำหนดตารางการจัดฝึกอบรม ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ไว้ดังนี้ ในวันที่ 7 มี.ค. 2564 ฝึกอบรมช่างแอร์ และ เบเกอรี่ โดยจะเชิญวิทยากรที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากโรงงานไฮเออร์และฮิตาชิผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งแต่การผลิตแอร์จากโรงงาน ขั้นตอนการติดตั้ง การล้างแอร์ และ การซ่อมแอร์ นอกจากนี้ได้เชิญพนักงานโรงงานที่ประสบผลสำเร็จจากการทำธุรกิจขนมหรือของว่างมาเจาะลึกถึงเคล็ดลับการเริ่มต้นธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน พร้อมกับแนะนำวิธีพิชิตปัญหาอุปสรรคการตลาดและการหาลูกค้า เป็นต้น จากนั้นในวันที่ 14 มี.ค. 2564 ฝึกอบรมช่างยนต์และขายของออนไลน์ โดยเชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี มาให้ความรู้และเทคนิคการเปิดหน้าร้านหรือให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างไรให้ปัง อาทิ เสื้อผ้ามือหนึ่งหรือเสื้อผ้ามือสอง เครื่องสำอาง หรือ สินค้าจิปาถะต่าง ๆ ด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวในการหารายได้เสริม
อัพสกิลรู้ทันโซเซียลรู้จักใช้สื่อเพื่อสังคม
นายพิเชษฐ์ ชูรักษ์ บรรณาธิการสำนักข่าว IGreen กล่าวถึงแนวทางการใช้สื่อให้เข้มแข็งและทรงพลังเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการแรงงานจำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และ เนื้อหาสาระที่จะสื่อสารออกไปประเด็นต้องมีความชัดเจน เพื่อนำมากำหนดขอบเขตการนำเสนอ เนื้อหา ภาพ คลิปวีดีโอ การ์ตูน อินโฟกราฟฟิค หรือแพลตฟอร์มได้ตรงตามความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น IGreen เป็นพื้นที่แบ่งปันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นประชาชนทั่วไปที่สนใจข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม คือ กลุ่มเป้าหมายที่มีคาดหวังต้องการติดตาม ข่าว บทความ สกู๊ปพิเศษ หรือ บทสัมภาษณ์พิเศษจากแพลตฟอร์ม IGreen อย่างต่อเนื่อง ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาสาระกับทีมงานผู้ผลิตจำเป็นต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความถี่ของการโพสต์ต้องมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะประชาชนที่ติดตามมีความคาดหวังสูงต่อ IGreen ในฐานะเพจที่เป็นพื้นที่แบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ
สำหรับเทคนิคการสร้างความน่าสนใจต่อเพจหรือแพลตฟอร์มทั้งในรูปแบบ “กลุ่มปิด” หรือ “กลุ่มเปิด” อันดับแรก คือ “การสร้างภาพจำ” ด้วยการใช้ โลโก้ ตัวหนังสือ (Front) ภาพประกอบ โทนสี หรือ การใช้เทคนิคกราฟฟิคต่าง ๆ ต้องมีความเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เช่น เขียนข้อความสั้นกระชับทับลงบนภาพโดยไม่จำเป็นต้องใส่เนื้อหาที่ยืดยาวใต้ภาพประกอบจำนวนมาก ๆ แต่สามารถดึงดูดความน่าสนใจจากผู้อ่านได้ดี หรือ เปลี่ยนการใช้ Front และ โทนสี บนภาพอยู่เสมอเพื่อบ่งบอกถึงความทันสมัยไม่จำเจ
ต่อมา คือ “ความถี่ของการโพสต์” กิจกรรม เนื้อหาหรือภาพต่าง ๆ ที่ต้องการสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมาย จำเป็นต้องใช้กำลังคนในการผลิต ซึ่งอาจจะแบ่งการทำงานในแต่ละคนรับผิดชอบประเด็นใดมานำเสนอในแต่ละวัน นอกจากนี้ “ความเชื่อมโยง” ในประเด็นที่ต้องการนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมายสามารถนำมาเสนอบนเพจของตัวเองได้ อาทิ ข้อเรียกร้อง สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน ชีวิตของผู้ใช้แรงงาน กิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ หรือ อาชีพเสริมของผู้ใช้แรงงาน สามารถนำมาเสนอบนแพลตฟอร์มซึ่งมีผู้ติดตามอยู่เป็นจำนวนมากให้กลายเป็นตลาดออนไลน์สำหรับผู้ใช้แรงงานกลายเป็นช่องทางใหม่ในการหารายได้ ทั้งหมดเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวของเพจโดยต้องไม่เป็นเนื้อหาที่กระทบต่อกฎหมายหรือเป็นการสื่อสารเชิงลบต่อองค์กร