‘บอร์ด สมศ.’ เคาะเปลี่ยนคำเรียกการประเมินจาก ‘ดีเยี่ยม-ดีมาก’ เป็น ‘ผ่านมาตรฐาน’
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน คุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม สมศ.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีมติยกเลิกใช้เกณฑ์การตัดสินผลการประเมิน ที่เดิมใช้คำว่า ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง โดยจะยกเลิกในปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป สาเหตุที่ไม่สามารถเปลี่ยนคำเรียกได้ทันที เพราะสมศ.ได้พัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดขอเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพื่อประเมินโรงเรียนจัดสอนระบบออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ สมศ.ได้ประเมินรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา หรือ SAR ของสถานศึกษาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 3,829 แห่ง แบ่งเป็นระดับปฐมวัย จำนวน 1,480 แห่ง ระดับขั้นพื้นฐาน 2,150 แห่ง และระดับการอาชีวศึกษา 199 แห่งแล้ว ทั้งนี้ สมศ.ต้องไปหาคำอื่นมาแทนโดยที่ไม่เป็นการแบ่งแยกระดับโรงเรียน เช่น รับรองมาตรฐาน และอยู่ระหว่างการปรับปรุง เป็นต้น เพื่อไม่ให้โรงเรียนเสียกำลังใจ เชื่อว่าถ้าเปลี่ยนคำเรียกการประเมินแล้ว จะทำให้โรงเรียนเปิดรับให้ สมศ.เข้าไปประเมินมากยิ่งขึ้น และหวังว่าจะแก้ปัญหาผู้อำนวยการสถานศึกษาอยากได้ผลประเมินดีเยี่ยม เพื่อทำเรื่องขอย้ายไปอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า โดยนำนักเรียนมาติว เพื่อให้นักเรียนทำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตดีขึ้น เมื่อโรงเรียนได้รับคะแนนโอเน็ตดี การประเมินของ สมศ.ก็จะดีขึ้นตามมาด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมีผลงานและสามารถทำเรื่องขอย้ายโรงเรียนได้
“อย่างไรก็ตาม การประเมินของ สมศ.จะต้องปรับด้วย เช่น หากประเมินสถานศึกษาแล้วพบว่าสถานศึกษาต้องปรับปรุงด้านวิชาการ เทคโนโลยีการศึกษา สมศ.จะให้รายชื่ออาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ มาช่วยให้ความรู้กับโรงเรียน และเมื่อบุคคลเหล่านี้เข้ามาช่วยให้ความรู้กับโรงเรียนแล้ว โรงเรียนจะต้องทำรายงาน ส่งมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จากนั้นเขตพื้นที่ฯ จะกำกับดูแลการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนด ถ้า สมศ.สามารถทำระบบนี้ได้ เชื่อว่าจะช่วยให้การศึกษาดีขึ้น ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการแล้ว เพราะที่ผ่านมาเป็นการประเมินของ สมศ.จะเป็นการบอกจุดด้อยให้สถานศึกษาทราบเท่านั้น และสถานศึกษาจะต้องไปหาวิธีการพัฒนาตนเอง ซึ่งการประเมินแบบนี้ทำให้สถานศึกษาไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ นอกจากนี้ที่ประชุม มีมติปรับเบี้ยเลี้ยงของผู้ประเมินใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และในอนาคตการประเมินสถานศึกษาจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ การลงพื้นที่ประเมินสถานศึกษา และการประเมินทางออนไลน์ด้วย เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย ” นากเอกชัย กล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่